คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7008/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นการเลือกตั้งอันมีเหตุจากพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 และบทบัญญัติในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว กำหนดให้วันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นวันเลือกตั้ง เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดให้มีการเลือกตั้งในวันดังกล่าว และจำเลยได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่เมื่อจำเลยได้รับบัตรเลือกตั้งทั้งสองฉบับแล้วเดินเข้าไปในคูหาและกาเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งทั้งสองฉบับแล้ว จากนั้นได้ออกมาชูมือขึ้นพร้อมทั้งฉีกบัตรเลือกตั้งทั้งสองฉบับ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสำเร็จขณะที่ฉีกบัตรเลือกตั้งตาม ป.อ. มาตรา 358 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันดังกล่าว และผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หามีผลต่อการกระทำความผิดของจำเลยแต่อย่างใดไม่ ส่วนข้อโต้แย้งของจำเลยในส่วนที่ว่า การใช้สิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีตามมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 นั้น เห็นว่า การใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีดังกล่าวจะต้องเป็นการกระทำที่มิได้ล่วงละเมิดบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ได้บัญญัติไว้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมาย รับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก2 เดือน และปรับ 2,000 บาท ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อน อีกทั้งจำเลยเป็นผู้มีความรู้ความสามารถโดยรับราชการอยู่ในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ระดับ 9 โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนดห้าปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาโต้แย้งประการแรกว่า คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ว่าการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นการเลือกตั้งที่ทำให้เกิดผลของการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจัดการเลือกตั้ง เป็นผลทำให้วันที่ 2 เมษายน 2549 มิใช่วันเลือกตั้งที่แท้จริงดังนั้น บัตรเลือกตั้งทั้งสองฉบับที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมอบให้แก่จำเลยและจำเลยได้ฉีกทิ้งไปนั้นจึงมิใช่บัตรเลือกตั้ง แต่เป็นเพียงแบบพิมพ์เลือกตั้งเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 กับฎีกาข้อโต้แย้งประการที่สองว่า การกระทำของจำเลยที่ฉีกบัตรเลือกตั้งเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและเป็นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีตามมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดนั้น เห็นว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นการเลือกตั้งอันมีเหตุจากพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 และบทบัญญัติในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว กำหนดให้วันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นวันเลือกตั้ง เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดให้มีการเลือกตั้งในวันดังกล่าว และจำเลยได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่เมื่อจำเลยได้รับบัตรเลือกตั้งทั้งสองฉบับแล้วเดินเข้าไปในคูหาและกาเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งทั้งสองฉบับแล้ว จากนั้นได้ออกมาชูมือขึ้นพร้อมทั้งฉีกบัตรเลือกตั้งทั้งสองฉบับ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสำเร็จขณะที่ฉีกบัตรเลือกตั้ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันดังกล่าว และผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หามีผลต่อการกระทำความผิดของจำเลยแต่อย่างใดไม่ ส่วนข้อโต้แย้งของจำเลยในส่วนที่ว่า การใช้สิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีตามมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 นั้น เห็นว่า การใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีดังกล่าวจะต้องเป็นการกระทำที่มิได้ล่วงละเมิดบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ได้บัญญัติไว้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด ศาลอุทธรณ์ได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้เหตุผลไว้โดยละเอียดและพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share