แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ใบสมัครงานของโจทก์ระบุชัดว่า โจทก์จะทำงานกับจำเลยอย่างน้อย 1 ปี และถ้าจะลาออกจะแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน ถ้าผิดสัญญาและ/หรือถูกจำเลยให้ออก ไล่ออกด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม โจทก์จะไม่รับเงินค้ำประกันคืนเงินค้ำประกันนี้ไม่ค้ำประกันความเสียหายใด ๆ ที่โจทก์ก่อขึ้นเงินค้ำประกันที่โจทก์ยังจ่ายไม่ครบให้หักจากเงินเดือนจนครบตามจำนวนที่จำเลยต้องการ หมายความว่า เงินค้ำประกันดังกล่าวโจทก์วางไว้แก่จำเลยเพื่อประกันการทำงานว่าจะทำงานกับจำเลยไม่น้อยกว่า 1 ปี ถ้าโจทก์ทั้งสองผิดสัญญาและถูกจำเลยให้ออกหรือไล่ออกจากงานด้วยเหตุใดก่อนครบ 1 ปีโจทก์ทั้งสองจะไม่รับเงินค้ำประกันคืนจากจำเลย และแม้โจทก์จะทุจริตต่อหน้าที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ก็ไม่ใช่เงื่อนไขที่จำเลยจะไม่คืนเงินค้ำประกันแก่โจทก์ ดังนี้เมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลยมาเกิน 1 ปี ครบถ้วนตามข้อตกลงในใบสมัครงานแล้ว แม้ถูกจำเลยไล่ออก โจทก์ก็มีสิทธิรับเงินค้ำประกันคืน แต่หากโจทก์นั้นทำงานกับจำเลยมายังไม่ถึง 1 ปี ตาม ข้อตกลงในใบสมัครและถูกจำเลยไล่ออกเพราะความผิดของโจทก์ที่ทุจริตต่อหน้าที่ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิรับเงินค้ำประกันที่วางไว้แก่จำเลยคืน ตามคำฟ้องโจทก์ระบุชัดว่าจำเลยเรียกเก็บเงินค้ำประกันจากโจทก์ครั้งแรกคนละ 2,000 บาท ในวันเริ่มทำงานและหักค่าจ้างโจทก์ทั้งสองอีกคนละ 1,000 บาท เป็นรายเดือนเป็นเวลา 3 เดือน รวมเป็นเงิน 5,000 บาท จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่จำต้องคืนเงินค้ำประกันแก่โจทก์เพราะโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย รายละเอียดปรากฏตามใบสมัครงานเอกสารท้ายคำให้การ ศาลแรงงานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยต้องคืนเงินค้ำประกันแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่เพียงใด ย่อมหมายถึงว่าการที่จำเลยปฏิเสธว่าไม่ต้องรับผิดในเงินค้ำประกันต่อโจทก์ และมีความหมายรวมถึงปฏิเสธเรื่องจำนวนเงินค้ำประกันที่จำเลยจะต้องคืนแก่โจทก์มีจำนวนเท่าใด มิใช่เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยรับข้อเท็จจริงในเรื่องจำนวนเงินที่ค้ำประกันกันแล้ว ทั้งมิใช่เป็นการตรวจและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน ดังนั้น ที่ศาลแรงงานพิเคราะห์จากเอกสารซึ่งจำเลยอ้างเป็นพยานหลักฐานที่มีการระบุชัดเจนว่าเงินค้ำประกันมีจำนวน 2,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ค้างเงินค้ำประกันอยู่อีก ส่วนเงินที่หักจากโจทก์มีคนละ 3,000 บาท เป็นเงินค่าจ้างที่หักไว้เท่านั้น จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็น ข้อพิพาทโดยชอบแล้ว มิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากคำฟ้องคำให้การ
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลยต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีความผิด และไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าโจทก์ที่ 1 ทำงานกับจำเลยจนถึงวันเลิกจ้างครบหนึ่งปีแต่ไม่ครบสามปี โจทก์ที่ 2 ทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันแต่ไม่ครบหนึ่งปี ในระหว่างที่โจทก์ทั้งสองทำงานกับจำเลย จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ที่ 1 จำนวน 2,986 บาทโจทก์ที่ 2 จำนวน 1,218 บาท จำเลยเรียกเก็บเงินค้ำประกันจากโจทก์ทั้งสองในวันแรกที่เข้าทำงานคนละ 2,000 บาท และหักเงินค่าจ้างโจทก์ทั้งสองไว้อีกคนละ 3,000 บาท โดยจำเลยตกลงว่าจะคืนเงินค้ำประกันให้เมื่อโจทก์ทั้งสองออกจากงาน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1จำนวน 10,026 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 11,165 บาทค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 19,200 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน6,090 บาท ค่าจ้างค้างโจทก์ที่ 1 จำนวน 2,986 บาทโจทก์ที่ 2 จำนวน 1,218 บาท และคืนเงินค้ำประกันให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะโจทก์ทั้งสองทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และแสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนเงินค้ำประกันนั้นจำเลยกับโจทก์ทั้งสองมีข้อตกลงว่า หากโจทก์ทั้งสองถูกให้ออกหรือไล่ออกจากงานไม่ว่ากรณีใด โจทก์ทั้งสองจะไม่ได้รับเงินประกันคืนจากจำเลยรายละเอียดตามสำเนาใบสมัครงานของโจทก์ทั้งสองเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 ซึ่งมีข้อความว่า เงินค้ำประกันข้าพเจ้าให้ไว้เพื่อเป็นสัญญาว่าจะทำงานกับบริษัทฯ อย่างน้อย 1 ปีถ้าข้าพเจ้าผิดสัญญา และ/หรือถูกบริษัทฯ ให้ออกไล่ออกด้วยเหตุใดๆ ข้าพเจ้าจะไม่รับเงินค้ำประกันคืน ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองขาดนัดพิจารณา จำเลยแถลงขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะเหตุโจทก์ทั้งสองทุจริตต่อหน้าที่และจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย จึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล้วงหน้าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ทั้งสองจริงตามฟ้อง แต่จำเลยต้องคืนเงินค้ำประกันแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2จำนวน 3,000 บาท พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างแก่โจทก์ที่ 1จำนวน 2,986 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 1,218 บาทคืนเงินค้ำประกันให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,000 บาท โจทก์ที่ 2จำนวน 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ในข้อแรกว่า โจทก์ทั้งสองกระทำความผิดทุจริตต่อหน้าที่จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ถูกจำเลยไล่ออกจากงานต้องถือว่าโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยไม่ต้องคืนเงินค้ำประกันให้แก่โจทก์ทั้งสอง เห็นว่า ตามใบสมัครงานของโจทก์ทั้งสอง เอกสารหมาย ล.10 และ ล.11 ข้อ 13 ระบุชัดว่า”เงินค้ำประกันข้าพเจ้าให้ไว้เพื่อเป็นสัญญาว่าข้าพเจ้าจะทำงานกับบริษัทฯ อย่างน้อย 1 ปี และถ้าจะลาออกจะแจ้งให้บริษัทฯทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน ถ้าข้าพเจ้าผิดสัญญาและ/หรือถูกบริษัทฯ ให้ออก ไล่ออก ด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ข้าพเจ้าจะไม่รับเงินค้ำประกันคืน เงินค้ำประกันนี้ไม่ค้ำประกันความเสียหายใด ๆ ที่ข้าพเจ้าก่อขึ้น เงินค้ำประกันที่ข้าพเจ้ายังจ่ายไม่ครบให้หักจากเงินเดือนจนครบตามจำนวนที่บริษัทฯต้องการ” ซึ่งหมายความว่า เงินค้ำประกันดังกล่าวโจทก์ทั้งสองวางไว้แก่จำเลยเพื่อประกันการทำงานว่าจะทำงานกับจำเลยไม่น้อยกว่า 1 ปี ถ้าโจทก์ทั้งสองผิดสัญญาและถูกจำเลยให้ออกหรือไล่ออกจากงานด้วยเหตุใดก่อนครบ 1 ปี โจทก์ทั้งสองจะไม่รับเงินค้ำประกันคืนจากจำเลย นอกจากนี้เห็นได้ว่าข้อความในใบสมัครงานดังกล่าวระบุไว้ชัดว่าเงินค้ำประกันนี้ไม่ค้ำประกันความเสียหายใด ๆที่โจทก์ทั้งสองก่อขึ้น ดังนั้น แม้โจทก์ทั้งสองจะทุจริตต่อหน้าที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ก็ไม่ใช่เงื่อนไขที่จำเลยจะไม่คืนเงินค้ำประกันแก่โจทก์ทั้งสองเมื่อโจทก์ที่ 1 ทำงานกับจำเลยมาเกิน1 ปี ครบถ้วนตามข้อตกลงในใบสมัครแล้วแม้ถูกจำเลยไล่ออกโจทก์ที่ 1 ก็มีสิทธิรับเงินค้ำประกันคืน ส่วนโจทก์ที่ 2 นั้นทำงานกับจำเลยมายังไม่ถึง 1 ปี ตามข้อตกลงในใบสมัครและถูกจำเลยไล่ออกเพราะความผิดของโจทก์ที่ 2 เองที่ทุจริตต่อหน้าที่โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีสิทธิรับเงินค้ำประกันที่วางไว้แก่จำเลยคืนและศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงยุติแล้วว่าตามใบสมัครงานของโจทก์ทั้งสองเอกสารหมาย ล.10 และ ล.11 ด้านหลังตอนท้ายในส่วนที่ให้บริษัทฯ กรอกข้อความได้มีข้อความว่า เงินค้ำประกันเกี่ยวกับการทำงานที่โจทก์ทั้งสองวางไว้แก่จำเลยมีเพียง2,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองยังค้างจ่ายเงินค้ำประกันอยู่อีก ส่วนที่จำเลยหักเพิ่มไว้จากโจทก์ทั้งสองคนละ 3,000 บาทเป็นเงินที่หักจากค่าจ้างโจทก์ทั้งสองซึ่งจำเลยต้องคืนแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิได้รับเงินคืนจากจำเลย5,000 บาท โจทก์ที่ 2 มีสิทธิรับเงินคืน 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเงินค้ำประกันที่โจทก์ทั้งสองจะไม่รับคืนตามใบสมัครงานของโจทก์ทั้งสองเอกสารหมาย ล.10 และ ล.11 มีเพียงคนละ2,000 บาท เพราะในช่องค้ำประกันระบุว่า 2,000 บาท นั้นเป็นการตรวจและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน ทั้งเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากคำฟ้องและคำให้การเพราะตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองระบุชัดเจนว่าได้วางเงินค้ำประกันไว้กับจำเลยคนละ 5,000 บาท โจทก์ทั้งสองได้วางเงินค้ำประกันคนละ 2,000 บาท ในวันเริ่มทำงานกับจำเลยซึ่งระบุไว้ในเอกสารหมาย ล.10 และ ล.11 เท่านั้น นอกจากนี้ตามคำให้การจำเลยก็มิได้โต้แย้งเรื่องจำนวนเงินค้ำประกันตามฟ้องจึงเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยรับกัน ไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทในเรื่องจำนวนเงินค้ำประกันอีก เห็นว่าตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองระบุชัดว่าจำเลยเรียกเก็บเงินค้ำประกันจากโจทก์ทั้งสองครั้งแรกคนละ 2,000 บาท ในวันเริ่มทำงาน และหักค่าจ้างโจทก์ทั้งสองอีกคนละ 1,000 บาท เป็นรายเดือนเป็นเวลา 3 เดือนรวมเป็นเงินคนละ 5,000 บาท และจำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่จำต้องคืนเงินค้ำประกันแก่โจทก์ทั้งสองเพราะโจทก์ทั้งสองทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายรายละเอียดปรากฏตามใบสมัครงานเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 หรือเอกสารหมาย ล.10 และ ล.11 ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อสุดท้ายว่า จำเลยต้องคืนเงินค้ำประกันแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใด ซึ่งย่อมหมายถึงว่า การที่จำเลยปฏิเสธว่าไม่ต้องรับผิดในเงินค้ำประกันต่อโจทก์ทั้งสองมีความหมายรวมถึงปฏิเสธเรื่องจำนวนเงินค้ำประกันด้วยว่ามีจำนวนเพียงใดที่จำเลยจะต้องคืนแก่โจทก์ทั้งสอง ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิเคราะห์จากเอกสารหมาย ล.10 และ ล.11 ซึ่งจำเลยอ้างเป็นพยานหลักฐานที่มีการระบุชัดเจนว่าเงินค้ำประกันมีจำนวนคนละ 2,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองค้างเงินค้ำประกันอยู่อีก ส่วนเงินที่หักจากโจทก์ทั้งสองมีคนละ3,000 บาท เป็นเงินค่าจ้างทีหักไว้เท่านั้น จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทโดยชอบแล้ว
พิพากษายืน