แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 กำหนดให้เฉพาะแต่นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้น เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อปรากฏว่า อ. เป็นเพียงปลัดอำเภอและมิได้เป็นผู้รักษาการแทนนายอำเภอ แม้นายอำเภอจะมีคำสั่งแต่งตั้งให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวประชาชน อ. ก็มีฐานะเป็นเพียงผู้ทำการแทนนายอำเภอเท่านั้น หาใช่เป็นผู้รักษาการแทนนายอำเภอตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวไม่ อ. จึงไม่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน ดังนั้นการที่จำเลยยื่นคำขอรับบัตรประจำตัวประชาชนโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ อ.จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2505 มาตรา 17 แต่การที่ อ. ทำการแทนนายอำเภอดังกล่าวนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ถือได้ว่า อ. มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ ดังนั้น การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ อ. และ อ. จดข้อความที่แจ้งลงในเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267 แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งมีสัญชาติญวนได้ยื่นคำขอรับบัตรประจำตัวประชาชน โดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อ อ.ปลัดอำเภอเมืองศรีสะเกษฝ่ายทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ออกบัตรประชาชน ว่าจำเลยมีสัญชาติไทย และบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยหาย ขอให้เจ้าหน้าที่ออกบัตรให้ใหม่ ทำให้ อ.และพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่ออกบัตรประชาชนต้องเสียหายโดยหลงเชื่อจดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวลงในเอกสารราชการและออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๒๖๗ พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๗
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๓๗, ๒๖๗ พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๗ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา ๒๖๗ จำคุก๒ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า อ.ปลัดอำเภอผู้รับจดแจ้งข้อความลงในเอกสารไม่ใช่นายอำเภอ จึงไม่เป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.๒๕๐๕ นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า อ.เป็นปลัดอำเภอ และได้รับแต่งตั้งจากนายอำเภอให้ทำหน้าที่ควบคุมตรวจเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการทำบัตรประจำตัวประชาชน ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๙ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะกระทำความผิด บัญญัติให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานตรวจบัตร ซึ่งก็ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๑ กำหนดให้เฉพาะแต่นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้น เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อ อ. เป็นเพียงปลัดอำเภอและมิได้เป็นผู้รักษาการแทนนายอำเภอ แม้นายอำเภอจะมีคำสั่งแต่งตั้งให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวประชาชน อ.ก็มีฐานะเป็นผู้ทำการแทนนายอำเภอเท่านั้น หาใช่เป็นผู้รักษาการแทนนายอำเภอตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวไม่ดังนั้น อ.จึงไม่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าว การที่จำเลยไปยื่นคำขอรับบัตรประจำตัวประชาชน โดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ อ.ซึ่งมิใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๗ ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ และมาตรา ๒๖๗ นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่านายอำเภอมีคำสั่งแต่งตั้งให้ อ. ปลัดอำเภอ เป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวประชาชนแทนนายอำเภอ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ถือได้ว่า อ.มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่แล้ว การที่จำเลยไปแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และเจ้าพนักงานผู้รับแจ้งได้จดข้อความที่แจ้งลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ และมาตรา ๒๖๗ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๗ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.