คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 310/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้ามรดกมีหุ้นอยู่ในบริษัทจำเลย เมื่อเจ้ามรดกตายหุ้นของเจ้ามรดกย่อมตกมาเป็นของทายาททันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณชิย์ มาตรา 1599 และ 1600 ทายาทจึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ ตามมาตรา 1195 ได้ แม้ว่าบริษัทจำเลยจะยังไม่ได้จดทะเบียนทายาทเป็นผู้ถือหุ้นก็ตาม
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1194 หมายความว่าการประชุมครั้งที่ 2 ต้องประชุมกันในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน และไม่มากกว่า 6 สัปดาห์ นับแต่วันประชุมครั้งที่ 1 (มิใช่ว่าต้องมีคำบอกกล่าวนัดประชุมครั้งที่ 2 ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน นับตั้งแต่วันประชุมครั้งที่ 1)
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1190 เมื่อผู้ถือหุ้นสองคนของให้ลงคะแนนลับแล้ว บริษัทจะต้องลงคะแนนลับ หากฝ่าฝืนมติของที่ประชุมย่อมชัดต่อมาตรา 1194 เมื่อโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นร้องขอ ศาลก็สั่งเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่นี้ได้ตามมาตรา 1195
การขอให้ลงคะแนนลับไม่ใช่เป็นการเข้าประชุมแทนผู้ถือหุ้น และการขอให้ลงคะแนนลับไม่มีกฎหมายบังคับว่าผู้ถือหุ้นจะต้องไปร่วมประชุมด้วย
กรรมการของบริษัทผู้หนึ่งจะอยู่ในตำแหน่งได้ถึงสิ้นปี 2497 เมื่อกรรมการผู้นั้นตายลง กรรมการที่เหลือเลือกผู้อื่นเป็นกรรมการแทนเมื่อ พ.ศ. 2505 ดังนี้ ย่อมขัดกับมาตรา 1155
เฉพาะแต่ที่ประชุมใหญ่เท่านั้น อาจตั้งหรือถอนกรรมการได้ตามมาตรา 1151 ฉะนั้น เมื่อบริษัทไม่มีการประชุมใหญ่ ผู้ถือหุ้นจะมาฟ้องขอให้เพิกถอนการตั้งกรรมการมิได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2510)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายโอวบุ้นโฮ้ว และเป็นทายาทตามพินัยกรรม นายโอวบุ้นโฮ้วมีหุ้นอยู่ในบริษัทเอ็งอันการพิมพ์จำเลย ๒,๐๐๐ หุ้น โจทก์ขอให้จำเลยโอนหุ้นดังกล่าวให้โจทก์ แต่จำเลยปฏิเสธ จึงขอให้บริษัทจำเลยโอนแก้ทะเบียนหุ้นนายโอวบุ้นโฮ้วให้แก่โจทก์ และขอให้เพิกถอนมติพิเศษกรเพิ่มทุนและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทจำเลย กับขอให้เพิกถอนกรรมการบริษัทจำเลยด้วย
จำเลยที่ ๑, ๒, ๓ ให้การต่อสู้หลายประการ จำเลยที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การ
ผู้ร้องสอดทั้ง ๗ อ้างว่าเป็นภริยาและบุตรของนายโอวบุ้นโฮ้ว ขอแบ่งมรดกหุ้นส่วนนี้ด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจัดการโอนหุ้นให้โจทก์ และนายเกานายโอวซัวกับนางออยการ์ซังผู้ร้องสอด ให้ยกคำขอข้ออื่นของโจทก์
โจทก์และผู้ร้องสอดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาขอให้เพิกถอนมติพิเศษของบริษัทจำเลย และขอให้เพิกถอนการเป็นกรรมการของจำเลยที่ ๒, ๓, ๔
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้รับส่วนมรดกเกี่ยวกับหุ้นในบริษัทจำเลยตามพินัยกรรมของนายโอวบุ้นโฮ้ว ปัญหาจึงมีว่าโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของนาวโอวบุ้นโฮ้วผู้รับมรดกหุ้นในบริษัทจำเลยสืบแทนนายโอวบุ้นโฮ้วนั้น จะมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ตามมาตรา ๑๑๙๕ โดยที่บริษัทจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นได้หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องได้ เพราะเมื่อนายโอวบุ้นโฮ้วตาย หุ้นของนายโอวบุ้นโฮ้วก็ตกทอดมาเป็นของโจทก์ผู้เป็นทายาททันที โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นแทน นายโอวบุ้นโฮ้วแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๙ และ ๑๖๐๐
ที่โจทก์ฎีกาว่า บริษัทจำเลยประชุมครั้งแรกวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๐๖ และได้มีคำบอกกล่าวนัดประชุมครั้งที่ ๒ วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๐๖ จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๙๔ วรรค ๔ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่ามาตรา ๑๑๙๔ หมายความว่าการประชุมครั้งที่ ๒ ต้องประชุมกันในระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๑๔ วัน และไม่มากว่า ๖ สัปดาห์ นับแต่วันประชุมครั้งที่ ๑ ซึ่งบริษัทจำเลยได้ปฏิบัติโดยชอบแล้ว
ที่โจทก์ฎีกาว่าในการประชุมครั้งที่ ๑ โจทก์ได้มีหนังสือไปยังจำเลยขอให้มีการลงคะแนนลับ หุ้นของโจทก์มี ๑๔๗๕ หุ้น ในจำนวน ๔,๐๐๐ หุ้น เสียงข้างมากในที่ประชุมจึงได้ไม่ถึง ๓ ใน ๔ ของเสียงทั้งหมด มติของที่ประชุมจึงไม่ชอบด้วยมาตรา ๑๑๙๔ วรรค ๓ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา ๑๑๙๐ เมื่อมีผู้ถือหุ้น ๒ คน ขอให้ลงคะแนนลับแล้วจะต้องลงคะแนนลับ โจทก์ทั้งสองได้เสนอขอให้มีการลงคะแนนลับแล้ว การประชุมครั้งแรกมีคะแนนเสียง ๑,๘๐๐ เสียงเท่านั้น ไม่ถึง ๓ ใน ๔ ของเสียงทั้งหมด มติของที่ประชุมจึงขัดต่อมาตรา ๑๑๙๔ เมื่อโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นร้องขึ้นมา ศาลก็ชอบที่จะสั่งเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่นี้เสียตามมาตรา ๑๑๙๕ ที่จำเลยโต้แย้งว่า โจทก์มิได้ลงนามในหนังสือขอให้ลงคะแนนลับเอง แต่ให้ผู้รับมอบอำนาจลงนามแทนผู้รับมอบอำนาจไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้น จึงขัดกับข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ว่า “ผู้ถือหุ้นคนใดไม่สามารถเข้าประชุมโดยตนเองได้อาจมอบฉันทะให้ผู้ถือหุ้นอื่นเข้าประชุมแทน” นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การขอให้ลงคะแนนลับไม่ใช่เป็นการเข้าประชุมแทนโจทก์ และการที่ผู้ถือหุ้นขอให้ลงคะแนนลับนั้น ไม่มีกฎหมายบังคับไว้ว่า ผู้ถือหุ้นจะต้องไปร่วมประชุมด้วย
ข้อโต้แย้งของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า กรรมการบริษัทจำเลยเลือกจำเลยที่ ๔ เป็นกรรมการแทนนายโอวบุ้นโฮ้วเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดที่นายโอวบุ้นโฮ้วจะเป็นกรรมการแล้วจึงไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่านายโอวบุ้นโฮ้วจะอยู่ในตำแหน่งกรรมการได้ถึงสิ้นปี ๒๔๙๗ กรรมการที่เหลือเลือกจำเลยที่ ๔ เป็นกรรมการแทนนายโอวบุ้นโฮ้วเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ จึงขัดต่อมาตรา ๑๑๕๕
ที่โจทก์ขอให้เพิกถอนการเป็นกรรมการของจำเลยที่ ๒, ๓ โดยอ้างว่าไม่ได้ออกตามเวรตามมาตรา ๑๑๕๒ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามมาตรา ๑๑๕๑ นั้น เฉพาะแต่ที่ประชุมใหญ่เท่านั้น อาจจะตั้งหรือถอนกรรมการได้ เมื่อบริษัทจำเลยไม่มีการประชุมใหญ่โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งกรรมการแทนจำเลยที่ ๒, ๓ ต่อไปได้จะมาฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมิได้
พิพากษาแก้ ให้เพิกถอนมติพิเศษการเพิ่มทุนและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทจำเลย และให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนดังกล่าวของบริษัทจำเลย ให้เพิกถอนการจดทะเบียนนายเซ้งใช้ จำเลยที่ ๔ เป็นกรรมการบริษัทจำเลย นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share