คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15723/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ธ.ขับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุกลับมาที่สำนักงานเมื่อเวลาประมาณ 14 นาฬิกา หลังจาก ป.โทรศัพท์ตาม ธ. เพื่อให้นำกุญแจรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุมาส่งคืนเมื่อเวลาประมาณ 15 นาฬิกาแล้ว ป. ก็ไม่ได้โทรศัพท์ติดต่อ ธ. อีกเลย และก่อนที่ ป. จะกลับบ้านเมื่อเวลาประมาณ 17 นาฬิกา ป. เห็นอยู่ว่า รถยนต์ตู้คันเกิดเหตุจอดเก็บในช่องจอดรถ ซึ่งแสดงว่า ธ. กลับมาที่สำนักงานแล้ว แต่ ป. ก็ไม่ได้โทรศัพท์สั่งให้ ธ. นำกุญแจรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุมาส่งคืนตามระเบียบ จะถือว่า ป.ปฏิบัติงานตามหน้าที่อันสมควรแก่หน้าที่ความรับผิดชอบของตนแล้วหาได้ไม่ ส่วน ธ. ก็เข้าใจเอาเองว่า ป. กลับบ้านไปแล้ว แต่ก็ยังนั่งเล่นอยู่ที่บริเวณที่ทำการของจำเลยจนถึงเวลา 18 นาฬิกา โดยต่างฝ่ายต่างทอดธุระ ขาดความสำนึกไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ กระทำเสมือนหนึ่งว่าเป็นเรื่องปกติ แสดงให้เห็นถึงการปล่อยปละละเลย ย่อหย่อนไม่ควบคุมการใช้รถให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ และเชื่อว่าจำเลยปล่อยปละละเลยให้เป็นเช่นนี้มาก่อนเกิดเหตุแล้ว ป.และ ธ. จึงไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติตามระเบียบ เข้าลักษณะที่จำเลยยินยอมให้ ธ. ใช้รถยนต์ตู้คันเกิดเหตุ อันเป็นหน้าที่ของพนักงานขับรถได้แม้เป็นเวลานอกราชการ เหตุละเมิดที่เกิดขึ้นในคดีนี้ จึงถือได้ว่าเป็นผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่กระทรวงจำเลยได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกระทรวงจำเลยต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เรียกโจทก์ทั้งสองในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 3 และที่ 4 เรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำนวน 295,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับใหัจำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 คนละ 73,937 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 3 และที่ 4
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่นายธนชัยได้กระทำดังกล่าวหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของนายพิเชฐ นิติกรชำนาญการ พยานจำเลยว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2553 นายธนชัย ได้รับมอบหมายให้ขับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุไปส่งเอกสารที่สำนักงบประมาณ เมื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายเรียบร้อยแล้ว นายธนชัย ได้ขับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุกลับมาถึงที่ทำงานเวลาประมาณ 14 นาฬิกา ถือว่าการปฏิบัติหน้าที่ราชการที่ได้รับมอบหมายเสร็จสิ้นแล้ว และต้องนำกุญแจรถไปส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้เก็บรักษาและนางปณิตา นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ มีหน้าที่ดูแลควบคุมการใช้รถของสำนักงานบริหารโครงการไทยเข้มแข็ง พยานจำเลยเบิกความว่า ในวันดังกล่าว หลังจากนายธนชัยใช้รถยนต์ตู้คันเกิดเหตุเสร็จแล้ว นายธนชัยไม่ได้นำกุญแจรถมาคืน พยานโทรศัพท์สอบถามนายธนชัย ได้ความว่านายธนชัยอยู่ข้างนอก พยานรออยู่จนถึงเวลา 17 นาฬิกา พบว่ารถยนต์ตู้คันเกิดเหตุจอดเก็บในช่องจอดรถแล้ว วันรุ่งขึ้นพยานจึงทราบว่านายธนชัยขับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุไปก่อเหตุละเมิดที่จังหวัดปทุมธานี เห็นว่า ตามรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดนั้น นางปณิตาให้ถ้อยคำว่า นายธนชัยขับรถราชการไปส่งเอกสารตามลำพัง ครั้นถึงเวลาประมาณ 14 ถึง 15 นาฬิกา พยานยังไม่พบว่านายธนชัยได้นำรถกลับมาที่สำนักงาน จึงโทรศัพท์สอบถามไปที่นายธนชัย ได้รับคำตอบว่า ยังอยู่ข้างนอก พยานรอนายธนชัยเพื่อรอรับกุญแจรถตามที่เคยปฏิบัติ จนกระทั่งเวลา 17 นาฬิกา ก็ไม่พบนายธนชัยกลับเข้ามาที่สำนักงาน พยานจึงเดินทางกลับบ้าน พบรถราชการจอดอยู่ในช่องจอดรถแล้ว แต่ไม่พบนายธนชัย พยานคาดว่านายธนชัยนำกุญแจรถติดตัวไปด้วยส่วนนายธนชัยให้ถ้อยคำว่า นางปณิตาได้โทรศัพท์ตามพยานเพื่อให้นำกุญแจรถไปส่งคืนเมื่อเวลาประมาณ 15 นาฬิกา แต่พยานตอบกลับไปว่าไม่ได้อยู่ที่สำนักงาน จนกระทั่งเวลาประมาณ 16.30 นาฬิกา พยานก็ไม่ได้นำกุญแจรถไปส่งคืน เพราะเข้าใจว่านางปณิตากลับบ้านแล้ว พยานนั่งเล่นอยู่ภายในบริเวณที่ทำการของจำเลยจนถึงเวลา 18 นาฬิกาพบนายไพรัช นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์รับจ้างเข้ามา นายไพรัชมีอาการมึนเมาสุรา พยานจึงขับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุไปส่งนายไพรัชที่บ้านพักย่านจังหวัดปทุมธานี และได้นั่งดื่มสุรากับนายไพรัช จนกระทั่งเวลาประมาณ 23 นาฬิกา จึงเดินทางกลับและเกิดเหตุละเมิดขึ้น ตามคำเบิกความของนายพิเชฐและจากถ้อยคำของนางปณิตาและนายธนชัย แสดงว่า นายธนชัยขับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุกลับมาที่สำนักงานเมื่อเวลาประมาณ 14 นาฬิกา หลังจากนางปณิตาโทรศัพท์ตามนายธนชัยเพื่อให้นำกุญแจรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุมาส่งคืนเมื่อเวลาประมาณ 15 นาฬิกาแล้ว นางปณิตาก็ไม่ได้โทรศัพท์ติดต่อนายธนชัยอีกเลย และก่อนที่นางปณิตาจะกลับบ้านเมื่อเวลาประมาณ 17 นาฬิกา นางปณิตาเห็นอยู่ว่า รถยนต์ตู้คันเกิดเหตุจอดเก็บในช่องจอดรถ ซึ่งแสดงว่านายธนชัยกลับมาที่สำนักงานแล้ว แต่นางปณิตาก็ไม่ได้โทรศัพท์สั่งให้นายธนชัยนำกุญแจรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุมาส่งคืนตามระเบียบ จะถือว่านางปณิตาปฏิบัติงานตามหน้าที่อันสมควรแก่หน้าที่ความรับผิดชอบของตนแล้วหาได้ไม่ ส่วนนายธนชัยก็เข้าใจเอาเองว่า นางปณิตากลับบ้านไปแล้ว แต่ก็ยังนั่งเล่นอยู่บริเวณที่ทำการของจำเลยจนถึงเวลา 18 นาฬิกา โดยต่างฝ่ายต่างทอดธุระ ขาดความสำนึกไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ กระทำเสมือนหนึ่งว่าเป็นเรื่องปกติ แสดงให้เห็นถึงการปล่อยปละละเลย ย่อหย่อนไม่ควบคุมการใช้รถให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ และเชื่อว่าจำเลยปล่อยปละละเลยให้เป็นเช่นนี้มาก่อนเกิดเหตุแล้ว นางปณิตาและนายธนชัยจึงไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติตามระเบียบ เข้าลักษณะที่จำเลยยินยอมให้นายธนชัยใช้รถยนต์ตู้คันเกิดเหตุ อันเป็นหน้าที่ของพนักงานขับรถได้ แม้เป็นเวลานอกราชการ เหตุละเมิดที่เกิดขึ้นในคดีนี้ จึงถือได้ว่าเป็นผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจำเลยต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้น แม้โจทก์ที่ 3 และที่ 4 ศาลชั้นต้นจะไม่รับฎีกาขึ้นมาก็ตาม แต่ความรับผิดของจำเลยย่อมมีผลถึงโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ดังนั้น ผลของคำพิพากษานี้จึงให้มีผลไปถึงโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ด้วย ส่วนปัญหาที่ว่า จำเลยต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดเพียงใด ซึ่งศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยมานั้น เนื่องจากคดีในส่วนของโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาในประเด็นดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาในปัญหาดังกล่าวข้างต้นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share