คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 310/2490

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ถอนฟ้องคดีแพ่งแล้วกลับมาฟ้องใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 และไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
รับฝากของที่ขโมยเขามามารดาและพี่ของผู้รับฝากทำสัญญายอมใช้ราคาของที่ฝากให้แก่เจ้าของและคนขโมย เจ้าของย่อมฟ้องเรียกเงินตามสัญญานั้นได้ และสัญญาชนิดนี้ไม่ใช่สัญญาค้ำประกัน
การทำยอมใช้ทรัพย์ที่ยักยอกอันเป็นความผิดส่วนตัวนั้นไม่นับว่าสัญญาเป็นโมฆะ
คนที่สามทำสัญญายอมรับใช้ทรัพย์แทนผู้รับฝากนั้นไม่ต้องปิดอากรแสตมป์

ย่อยาว

ได้ความว่า เด็กชายช้อยขโมยทองรูปพรรณของบิดามารดาไปแล้วฝากนายสง่าบุตรและน้องนางนาก นางเสียงไว้ รุ่งขึ้นไปทวงนายสง่าบอกว่า มารดาบอกว่าหีบที่เก็บทองหาย ในวันนั้นกำนันเรียกตัวจำเลยทั้งสองมาสอบสวน แล้วจำเลยทั้งสองทำหนังสือสัญญาจำเลยขอรับรองใช้ทองแทนน้ำหนัก 3 บาท เป็นเงิน 1,500 บาทแล้วลงชื่อจำเลยทั้งสอง ต่อมานายสง่าถูกฟ้องและศาลลงโทษฐานยักยอกและให้ใช้ทรัพย์ แต่ยังไม่ได้ใช้ทรัพย์ โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยทั้งสอง

ศาลชั้นต้นเห็นว่าหนังสือที่กล่าวนั้นเป็นตราสารหมายเลข 9(2) ในบัญชีประมวลรัษฎากร แต่มิได้ปิดอากรแสตมป์ จึงรับฟังไม่ได้ให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ตามหนังสือสัญญานั้น

จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยว่าโจทก์ฟ้องและถอนฟ้องไปแล้วมาฟ้องใหม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้นศาลฎีกาเห็นว่า เป็นการฟ้องใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 ไม่ใช่ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตข้อที่ว่าสัญญานั้นมีวัตถุประสงค์เพิกถอนคดีอาญาเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อการกระทำของนายสง่าเป็นผิดฐานยักยอกตาม มาตรา 314 ซึ่งเป็นความผิดส่วนตัวก็ทำสัญญายอมความกันได้โดยชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 81 การที่นายสง่าถูกลงโทษในคดีอาญาไม่ทำให้หนี้ตามสัญญาระงับไป และการที่เด็กชายช้อยเอาทรัพย์ไปฝากนายสง่าโดยไม่สุจริตไม่มีเหตุอะไรจะทำให้เจ้าของเรียกทรัพย์คืนไม่ได้ และเห็นว่าตราสารนี้ไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรตามข้อ 9(2) และสัญญานี้ไม่เข้าลักษณะค้ำประกันเพราะไม่ใช่ผูกพันเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระจึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share