แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ชายหญิงอยู่กินด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนชายเป็นฝ่ายผิดไม่ยอมจดทะเบียนเอง จะเรียกเงินหมั้นและสินสอดคืนไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2491 โจทก์ได้สู่ขอนางทองม้วนจำเลยที่ 1 ต่อนายนิ่มจำเลยที่ 2 นางผันจำเลยที่ 3 ผู้เป็นบิดามารดา ได้เข้าพิธีแต่งงานเป็นสามีภรรยาตามประเพณีเมื่อ เดือน 12 ขึ้น 9 ค่ำ พ.ศ. 2491 แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสในวันแต่งงานในการสู่ขอ จำเลยได้เรียกเอาเงินรวม 24,150 บาท แยกรายละเอียดเป็นเงินกองทุน 10,000 บาท เงินหมั้น 5,000 บาท สินสอด 4,000 บาทค่าเรือนหอ 5,000 บาท ค่าขันหมาก 80 คู่ 150 บาท นอกจากนี้ได้เงินค่ารับไหว้อีก 941 บาท 50 สตางค์ เมื่อโจทก์แต่งงานอยู่กินกับจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์ได้จัดแจงจะให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยทั้งสามกับช่วยกันหาทางหลีกเลี่ยงบิดพริ้วไม่จดทะเบียนสมรส ครั้งหลังที่สุดจำเลยได้พาลหาเหตุขับไล่โจทก์ไปจากบ้านเมื่อเดือนอ้ายขึ้น 6 ค่ำ พ.ศ. 2492 (น่าจะเป็นพ.ศ. 2491) โจทก์ได้ขอเงินต่าง ๆ ที่ได้ให้จำเลยไปคืน จำเลยก็ไม่ยอมคืนให้ จึงฟ้องขอให้จำเลยร่วมกันคืนเงิน 24,150 บาท กับให้จำเลยแบ่งเงินที่รับไหว้ให้โจทก์ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 470 บาท 75 สตางค์
จำเลยทั้งสามร่วมกันแก้ว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดไม่จดทะเบียนสมรสเมื่อแต่งงานกันได้ราว 10 วัน ฝ่ายจำเลยได้เตือนให้โจทก์ไปจดทะเบียนสมรส ฝ่ายโจทก์ได้ขอกู้เงินจำเลย 10,500 บาท จำเลยไม่ยอมให้กู้เพราะสงสัยว่าจะไม่ได้กู้โดยสุจริต ฝ่ายจำเลยกลับพูดขอเอาเงิน 10,000 บาทว่าจะเอาไปซื้อบ้านเรือนอยู่บ้าง จะเอาไปทำทุนค้าขายบ้าง จำเลยไม่ยอมให้ โจทก์ก็ไปจากบ้านจำเลยโดยจำเลยมิได้ขับไล่ โจทก์ไม่มีสิทธิจะฟ้องเรียกค่าสินสอด เงินหมั้นและไม่ว่าเงินจำนวนใดคืนจากจำเลย จำเลยไม่ได้เรียกร้องเงินจากโจทก์แยกเป็นรายการดังที่โจทก์ฟ้อง ความจริงแยกเป็นรายการดังนี้เงินค่าสินสอด 1,000 บาท เงินหมั้น 5,000 บาท เงินกองทุนเงินค่าเรือนหอ 4,000 บาท ส่วนเงินค่าขันหมากไม่มี จำเลยไม่ได้เรียกร้องจากโจทก์ โจทก์จัดหามาเองตามธรรมเนียมประเพณีเงินค่ารับไหว้โจทก์ได้รับไปแล้ว 500 บาทเนื่องจากโจทก์เป็นฝ่ายผิดเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย ต้องใช้จ่ายซื้อสิ่งของและค่าเลี้ยงแขกที่มาในงานสมรสรวมเป็นเงิน 6,000 บาท และจำเลยที่ 1 ได้เสียความบริสุทธิ์พรหมจรรย์ขอคิดเอาจากโจทก์ 5,000 บาท จึงฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายและค่าทดแทนจากจำเลยเป็นเงิน 11,000 บาท
ฝ่ายโจทก์แก้ฟ้องแย้งของจำเลยว่าความจริงเป็นดังฟ้องของโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นว่าฝ่ายใดเป็นผู้ผิดไม่จดทะเบียนสมรส พิจารณาพยานโจทก์ จำเลยทั้งสองฝ่ายแล้ว ข้อต้นฟังได้ว่าจำเลยได้รับเงิน 24,000 บาทไว้จากโจทก์จำนวนเงินนี้ฝ่ายโจทก์ว่าเป็นสินสอด4,000 บาท เงินกองทุน 10,000 บาท เงินหมั้น 5,000 บาท ค่าเรือนหอ 5,000 บาทฝ่ายจำเลยว่าเงินสินสอด 10,000 บาท เงินกองทุน 5,000 บาท เงินหมั้น 5,000 บาท ค่าเรือนหอ 4,000 บาท ซึ่งรวมแล้วเป็นเงิน 24,000 บาทเท่าที่โจทก์ฟ้อง เป็นแต่มีรายการผิดกันแต่เห็นว่า ฝ่ายใดผิดไม่ไปจดทะเบียนสมรส ฝ่ายนั้นต้องรับผิดทั้งหมดพิจารณาเหตุผลแล้วน่าเชื่อตามฝ่ายโจทก์ว่าได้เตือนให้ฝ่ายจำเลยจดทะเบียนสมรส มากกว่าจะเชื่อว่าฝ่ายโจทก์ได้ขอกู้เงินหรือขอเอาเงินไปซื้อบ้านเรือนหรือทำทุนค้าขายดังที่ฝ่ายจำเลยกล่าว เพราะถ้าฝ่ายโจทก์ประสงค์จะเอาเงินที่แต่งงานไปใช้หนี้หรือไปทำอะไรดังที่จำเลยว่า โจทก์น่าจะรีบไปจดทะเบียนให้สมบูรณ์ตามกฎหมาย ต่อแต่นั้นโจทก์จะเอาเงินไปทำอะไรก็ได้ตามปราถนา ไฉนฝ่ายโจทก์จะเอาเงินเมื่อตนยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส เมื่อฟังว่าฝ่ายจำเลยเป็นผู้ผิดก็ไม่มีอำนาจอันชอบธรรมที่จะเอาเงินจำนวน 24,000 บาทของโจทก์ เงินค่ารับไหว้ก็น่าเชื่อว่าโจทก์ยังไม่ได้รับไปจากจำเลย จำเลยจึงต้องแบ่งให้โจทก์ตามที่เรียกร้อง เงินค่าขันหมาก 150 บาทฝ่ายจำเลยว่าไม่ได้เรียกร้อง นายหรุ่นบิดาโจทก์ก็ว่าฝ่ายจำเลยไม่ได้เรียกร้องดังนั้นโจทก์จะเรียกร้องจากจำเลยไม่ได้ ฝ่ายจำเลยเป็นผู้ผิดจึงเรียกค่าเสียหายตามฟ้องแย้งไม่ได้พิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 24,000 บาท กับให้คืนเงินค่ารับไหว้ให้โจทก์อีก 470 บาท 75 สตางค์ รวมเป็นเงิน 24,470 บาท 75 สตางค์ ให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนาย 600 บาทแทนโจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เรื่องนี้ฝ่ายโจทก์สืบพยานว่าวันแต่งงานนางเปลื้องมารดาโจทก์พูดทักท้วงว่า ทำไมไม่เอาเจ้าพนักงานมาจดทะเบียน จำเลยที่ 2 ตอบว่าเจ้าพนักงานไม่ว่าง เสร็จงานสัก 3-4 วันจะพาไป จนพ้น 4-5 วันแล้วก็ไม่พาไป โจทก์เตือนจำเลยที่ 2-3 ก็ได้รับตอบว่ายังไม่ว่าง พอถึงข้างแรมนางเปลื้องมารดาได้มาเยี่ยมโจทก์ที่บ้านจำเลยอีก 2 ครั้ง ได้พูดเตือนให้พาโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนจำเลยที่ 2-3 ตอบว่ายังไม่เสร็จธุระอีก 2-3 วันจะพาไปพอถึงเดือนอ้ายขึ้น 6 ค่ำ จึงไปเตือนอีกเป็นครั้งสุดท้ายจำเลยที่ 2-3 กลับตอบว่า เมื่อไม่ไว้ใจกันก็ไม่ไปจดทะเบียนให้และโจทก์ได้ขนเสื้อผ้าจากบ้านจำเลยกลับไปบ้านโจทก์แต่บัดนั้น ฝ่ายจำเลยสืบพยานว่า ญาติฝ่ายโจทก์มาบ้านจำเลย3 ครั้งมิใช่ว่ามาเตือนเรื่องจดทะเบียนสมรส ครั้งแรกมาขอกู้เงินที่แต่งงาน10,500 บาท โดยให้ตัวโจทก์มีชื่อเป็นผู้ให้กู้ จำเลยเสนอให้กู้ในนามของฝ่ายจำเลยก็ไม่ยอมครั้งที่ 2 มาขอเงิน 10,000 บาทเพื่อเอาไปซื้อบ้าน จำเลยไม่ได้ให้ ครั้งที่ 3 มาขอเงิน 10,000 บาทเพื่อไปทำทุนค้าขาย จำเลยไม่ได้ให้เพราะเฉลียวใจว่า โจทก์มาแต่งงานชั่วเวลาเพียง 10 วันก็พยายามจะเอาเงินไป ทำให้ระแวงว่าจะแต่งงานโดยไม่สุจริต จึงไม่ยอมให้เงิน โจทก์โกรธและพูดว่าถ้าเช่นนั้นไม่ไปจดทะเบียน แล้วโจทก์ก็ออกจากบ้านจำเลยไปโดยจำเลยมิได้ขับไล่ เห็นว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้อยู่กินด้วยกันเป็นปกติสุขชั่วระยะเวลาอันสั้นเช่นนี้ เพียงแต่ยังมิได้ไปจดทะเบียนสมรส ยังหาใช่เหตุรุนแรงถึงกับจะทำให้โจทก์ออกไปจากบ้านจำเลยไม่ และถือเอาเป็นข้อแตกหักถึงฟ้องร้อง เฉพาะแต่การจดทะเบียนยังพอที่จะทำกันได้อยู่ ได้ชั่งเหตุผลทบทวนเห็นแววไปในทางที่ว่าฝ่ายโจทก์ไปเรียกร้องเอาเงินที่แต่งงานยิ่งกว่าไปเคี่ยวเข็ญให้จำเลยไปจดทะเบียนสมรส จึงลงเนื้อเห็นว่าการที่ยังมิได้จดทะเบียนสมรสมิใช่ความผิดของจำเลย เมื่อชี้ว่าการที่มิได้จดทะเบียนสมรสมิใช่ความผิดของจำเลย จำเลยก็มิต้องคืนเงินหมั้นและเงินสินสอด แต่เงินกองทุนและค่าเรือนหอนั้นจำเลยต้องคืนจะเอาไว้ไม่ได้ตามข้อสืบทั้งสองฝ่ายยอดเงินทั้งหมดตรงกันเป็นจำนวนเงิน 24,000 บาท แต่ต่างจำแนกรายละเอียดต่างกัน โจทก์ว่าเงินหมั้น 5,000 บาท สินสอด 4,000 บาท เงินกองทุน 10,000 บาทค่าเรือนหอ 5,000 บาท จำเลยว่าเงินหมั้น 5,000 บาท สินสอด 10,000 บาท เงินกองทุน 5,000 บาท ค่าเรือนหอ4,000 บาท เงินหมั้นตรงกันแล้วไม่ต้องพิจารณา คงเหลือเงินสินสอด เงินกองทุนและค่าเรือนหอที่เถียงกัน โดยเหตุผลทั่ว ๆ ไปเมื่อมีเงินกองทุนด้วยแล้วเงินกองทุนน่าจะมีจำนวนมากกว่าเงินสินสอด เพราะเป็นทุนรอนที่หวังจะให้คู่สมรส จึงลงเนื้อเห็นว่าเงินกองทุนมี 10,000 บาทส่วนเงินค่าเรือนหอควรฟังว่า 4,000 บาท เพราะเหตุว่าใช้เรือนเก่าของจำเลย ส่วนเงินรับไหว้วินิจฉัยว่าจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ต้องถือว่าจำเลยยอมรับตามฟ้อง จะสืบว่าจ่ายให้โจทก์ไป 500 บาทแล้วก็สืบไม่ได้ เรื่องนี้ได้มีการแต่งงานกันแล้ว จำเลยจะเรียกค่าใช้จ่ายในการสมรสไม่ได้ ค่าเสียพรหมจรรย์ก็เรียกไม่ได้เพราะมิได้มีการละเมิดอย่างใด จึงพิพากษาแก้ให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์เพียง 2 รายการ คือเงินกองทุน 10,000 บาท ค่าเรือนหอ 4,000 บาท รายการนอกนั้นให้ยกกับให้จำเลยแบ่งเงินค่ารับไหว้ให้โจทก์ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 470 บาท 75 สตางค์ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย ให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียมแทนโจทก์เพียงเท่าค่าขึ้นศาลที่โจทก์ชนะคดี 14,470 บาท 75 สตางค์ และให้จำเลยเสียค่าทนายสองศาลเป็นเงิน 600 บาท
โจทก์ฝ่ายเดียวฎีกา ขอให้พิพากษาตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาได้ประชุมพิจารณาแล้ว คดีนี้ฝ่ายจำเลยมิได้ฎีกาเป็นแต่ได้ยื่นคำแก้ฎีกาว่า เรื่องเงินค่าเรือนหอ ค่ากองทุน กับเงินค่ารับไหว้รวมเป็นเงิน 14,470 บาท 75 สตางค์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนแก่โจทก์จำเลยมิได้ฎีกาเป็นการดีแก่โจทก์อยู่แล้วจึงคงมีข้อที่จะวินิจฉัย ตามที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาเฉพาะเงินค่าสินสอดและเงินหมั้นเท่านั้น ปัญหาข้อนี้อยู่ที่ว่าการที่โจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้จดทะเบียนสมรส เป็นความผิดของฝ่ายใด เมื่อได้พิจารณาแล้วศาลนี้เห็นด้วยศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าเหตุที่ฝ่ายโจทก์ไปเตือนฝ่ายจำเลยให้ดำเนินการจดทะเบียนสมรส ไม่น่าเชื่อว่าฝ่ายจำเลยจะถึงกับโกรธเคืองฝ่ายโจทก์ เลยไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสเพราะจำเลยเป็นฝ่ายหญิงได้สมัครใจแต่งงานอยู่กินเป็นภรรยาโจทก์ด้วยดีแล้ว การจดทะเบียนก็เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งควรจะเป็นความประสงค์ของทั้งสองฝ่ายจึงได้กระทำพิธีแต่งงานสมรสกันตามประเพณี ศาลนี้มองไม่เห็นว่าจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายหญิงจะบิดเบือนไม่ยอมจดทะเบียนด้วยเหตุอันใด ข้อเท็จจริงจึงน่าชื่อตามที่ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า เพราะฝ่ายโจทก์ต้องการเงินที่ฝ่ายจำเลยได้จากการสมรสไปจากฝ่ายจำเลยยิ่งกว่าเหตุที่โจทก์กล่าวอ้าง ศาลนี้จึงเห็นสอดคล้องต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าเหตุที่มิได้จดทะเบียนสมรสมิใช่เป็นเพราะความผิดของฝ่ายจำเลยแต่เป็นเพราะความผิดของฝ่ายโจทก์ที่ไม่ยอมจดทะเบียนเอง โจทก์จะเรียกเงินหมั้นและเงินสินสอดคืนจึงไม่ได้ตามที่โจทก์กล่าวในฟ้องฎีกาว่าจำเลยฟ้องแย้งว่าเงินสินสอดเพียง 1,000 บาทเท่านั้นแต่คำพยานจำเลยเบิกความไปอีกอย่างหนึ่งจึงไม่น่าเชื่อนั้นได้พิจารณาแล้วจำเลยได้กล่าวในคำให้การว่าเงินค่าสินสอด 1,000 บาทจริงตามที่โจทก์กล่าวในฟ้องฎีกา แต่ก็ได้พิจารณาตามฟ้องโจทก์อีกด้วย ตามฟ้องโจทก์กล่าวว่าเงินสินสอด 4,000 บาท มิใช่ 1,000 บาท ตามที่จำเลยกล่าว ความพลาดพลั้งเพียงเท่านี้ไม่ถึงเป็นเหตุจะไม่เชื่อฟังพยานจำเลย อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 2 รายการคือเงินกองทุน 10,000 บาท และเงินค่าเรือนหอ 4,000 บาท รายการนอกนั้นให้ยก ซึ่งหมายความว่าให้ยกค่าสินสอดด้วย จึงไม่เป็นปัญหาว่าเงินค่าสินสอดเท่าใดแน่เพราะจะอย่างไรจำเลยก็ไม่ต้องคืนเงินค่าสินสอด ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ได้ จึงพิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายชั้นฎีกาแทนจำเลยอีก 300 บาท