แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์โจทก์ และสั่งให้แก้ไขข้อผิดพลาดภายใน 7 วัน แต่โจทก์ไม่ดำเนินการภายในกำหนด จึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์โจทก์ เป็นคำสั่งปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์ตามป.วิ.พ. มาตรา 232 ผู้อุทธรณ์จะต้องอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลอุทธรณ์ภายในกำหนด 10 วัน ตามมาตรา 234.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำการในทางการที่จ้าง ขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อชนนายก้อง แซ่หย่องสามีโจทก์ถึงแก่ความตาย ขอให้ใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายก้องแซ่หย่อง จำเลยที่ 1 มิได้กระทำในทางการที่จ้าง ผู้ตายประมาทเลินเล่อ โจทก์ไม่เสียหายตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ใช่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายก้อง แซ่หย่อง ผู้ตาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์โจทก์แล้ว เห็นว่าท้ายอุทธรณ์ลงชื่อว่าทนายจำเลยผู้อุทธรณ์ส่วนด้านหน้าเป็นโจทก์จึงขัดกันอยู่ ให้ผู้อุทธรณ์แก้ไขข้อผิดพลาดภายใน 7 วันนับแต่วันมีคำสั่ง โจทก์ไม่ดำเนินการภายในกำหนด มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์โจทก์
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า อุทธรณ์คำสั่งมิได้ยื่นภายใน 10 วันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 จึงไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามฎีกาของโจทก์ว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์เป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 โจทก์จึงฎีกาได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227 มาตรา 228 และมาตรา 247 นั้น เห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์ไปศาลอุทธรณ์ แม้จะเป็นเรื่องสั่งไม่รับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 เช่นคดีนี้ ก็เป็นคำสั่งปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 232ซึ่งผู้อุทธรณ์จะต้องอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลอุทธรณ์ภายในกำหนด 10 วันนับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 234 เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเกินกำหนดดังกล่าว ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.