แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ดาบตำรวจ ช. ได้จับกุม พ. กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน จำเลยทั้งสองให้ทรัพย์สินแก่ดาบตำรวจ ช. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการปล่อยตัว พ. กับพวกซึ่งเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ แม้ในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยทั้งสองกระทำการเพื่อจูงใจให้ดาบตำรวจ ช. ดำเนินการช่วยเหลือ พ. กับพวก โดยเปลี่ยนข้อหาให้เบาลงก็ตาม ก็หาใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญไม่ ทั้งนี้เพราะไม่ว่าจะเป็นการให้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้ปล่อยตัวหรือเปลี่ยนข้อหาก็ล้วนแต่เป็นการจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 เช่นเดียวกัน เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยทั้งสองตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144, 83 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 8 เดือน ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ดาบตำรวจชัยยันต์ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตั้งหรือเปลี่ยนข้อหานายไพรัชและนางราตรีได้ตามกฎหมาย เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พนักงานตำรวจที่จะเป็นผู้แจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาภายหลังจากที่มีการทำบันทึกจับกุมและนำตัวผู้ต้องหามายังสถานที่ทำการของพนักงานตำรวจแล้วคือพนักงานสอบสวนเท่านั้น ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงส่วนนี้ว่าในวันเกิดเหตุตามฟ้อง หลังจากดาบตำรวจชัยยันต์จับกุมนายไพรัชกับพวกและควบคุมตัวไปที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรีเพื่อดำเนินคดี ต่อมาในวันดังกล่าวจำเลยทั้งสองไปติดต่อกับดาบตำรวจชัยยันต์ขอให้ช่วยเหลือนายไพรัชกับพวกโดยเปลี่ยนข้อหาจากเดิมเป็นข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ใครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยตกลงจะให้เงินจำนวน 70,000 บาท ดาบตำรวจชัยยันต์จึงไปรายงานให้พันตำรวจตรีชาติชาย ผู้บังคับบัญชาทราบและวางแผนจับกุมโดยตอบตกลงและนัดหมายให้จำเลยทั้งสองนำเงินไปมอบให้ที่ด้านหลังสำนักงานกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรีในวันเดียวกัน เวลา 11 นาฬิกา เมื่อจำเลยทั้งสองไปพบดาบตำรวจชัยยันต์กับพวกตามนัดและมอบเงินให้ ดาบตำรวจชัยยันต์กับพวกจับกุมจำเลยทั้งสองทันที ตามข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติดังกล่าว การที่จำเลยทั้งสองไปติดต่อกับดาบตำรวจชัยยันต์เพื่อขอให้ช่วยเหลือนายไพรัชกับพวก โดยเปลี่ยนข้อหาจากเดิมข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเป็นข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น โดยเสนอให้เงินจำนวน 70,000 บาท นั้น ย่อมเป็นการกระทำที่จำเลยทั้งสองมุ่งประสงค์ขอให้ทรัพย์สิน เพื่อจูงใจให้ดาบตำรวจชัยยันต์ไปดำเนินการให้ผู้บังคับบัญชากระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ เมื่อพันตำรวจตรีชาติชายผู้บังคับบัญชาของดาบตำรวจชัยยันต์ทราบความประสงค์ของจำเลยทั้งสองจากดาบตำรวจชัยยันต์และวางแผนจับกุมโดยตอบตกลงและนัดหมายให้จำเลยทั้งสองนำเงินมอบให้และจับกุมจำเลยทั้งสองได้พร้อมเงินของกลาง การกระทำของจำเลยทั้งสองดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังมาจึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ขอให้ทรัพย์สินแก่ดาบตำรวจชัยยันต์และพันตำรวจตรีชาติชายเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ดังนั้น การที่ดาบตำรวจชัยยันต์จะมีหน้าที่ในการตั้งหรือเปลี่ยนข้อหาแก่ผู้ต้องหาหรือไม่ จึงหาใช่สาระสำคัญไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แม้ว่าคดีนี้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า ดาบตำรวจชัยยันต์ได้จับกุมนายไพรัชกับพวกในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน จำเลยทั้งสองให้ทรัพย์สินแก่ดาบตำรวจชัยยันต์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการปล่อยตัวนายไพรัชกับพวกซึ่งเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ แต่ในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยทั้งสองกระทำการเพื่อจูงใจให้ดาบตำรวจชัยยันต์ดำเนินการช่วยเหลือนายไพรัชกับพวก โดยเปลี่ยนข้อหาให้เบาลงก็ตาม ก็หาใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญไม่ ทั้งนี้เพราะไม่ว่าจะเป็นการให้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้ปล่อยตัวหรือเปลี่ยนข้อหาก็ล้วนแต่เป็นการจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 เช่นเดียวกัน เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยทั้งสองตามที่พิจารณาได้ความนั้นได้ ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน