คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3094/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาขายฝากแก่จำเลย โดยโจทก์ยังไม่ได้รับเงินเป็นการอำพรางนิติกรรมการกู้เงินที่จะกู้เป็นงวด ๆ ในจำนวนใกล้เคียงกับจำนวนเงินในสัญญาขายฝาก สัญญาขายฝากจึงเป็นโมฆะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคแรก ส่วนนิติกรรมสัญญากู้เงินตามงวดที่ถูกอำพรางไว้เป็นอันใช้บังคับได้ แม้การกู้เงินบางงวดมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ย่อมถือได้ว่า เอกสารการขายฝากเป็นนิติกรรมสัญญากู้เงินที่ทำไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อนิติกรรมขายฝากเป็นโมฆะ จำเลยชอบที่จะคืนทรัพย์ตามสัญญาขายฝากและรับเงิน จำนวนที่ให้กู้ไว้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นาวาโทประทีป สารลักษณ์ โจทก์ที่ 1 และบริวารทั้งหมดออกไปจากบ้านและที่ดินของจำเลย ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเดือนละ 750 บาท นับแต่วันฟ้อง ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองในอีกสำนวนหนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายที่ดินแก่โจทก์ที่ 1 และรับเงิน70,000 บาทจากโจทก์ที่ 2 หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 โจทก์สำนวนแรกและจำเลยที่ 1 สำนวนหลังฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สัญญาขายฝากระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.1 เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้เงินหรือไม่

ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังเป็นยุติได้ว่า แรกเริ่มเจรจาทำสัญญากันนั้น โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันเสนอจะกู้เงินของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยาเช่นกัน จำเลยทั้งสองตกลงให้กู้แต่ต้อง มีหลักประกัน เมื่อจำเลยทั้งสองไปดูบ้านทั้งสอง ไปดูบ้านและที่ดินของฝ่ายโจทก์แล้ว ได้ตกลงทำสัญญาขายฝาก โดยโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองพากันไปทำสัญญาขายฝาก ณ ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี โดยโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ขายฝาก จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับซื้อฝากที่ดินโฉนดที่ 15302 เลขที่ดิน 476 หน้าสำรวจ 816 ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินบ้านเลขที่ 128/5 หนึ่งหลังเป็นจำนวนเงิน 69,000 บาท มีกำหนด 1 ปี ตามเอกสารหมาย ล.1 เย็นวันนั้นเองโจทก์ที่ 2 ได้ไปที่บ้านจำเลย กู้เงินจากจำเลยที่ 1 จำนวน 30,000 บาท ต่อมาเดือนกรกฎาคมกู้อีก 20,000 บาท เดือนสิงหาคมกู้ 5,000 บาท เดือนกันยายนกู้ครั้งแรก5,000 บาท ครั้งหลัง 10,000 บาท หนี้จำนวนนี้รวม 70,000 บาท ฝ่ายโจทก์ยังมิได้ชำระ ข้อที่โจทก์จำเลยนำสืบโต้เถียงกันนั้น โจทก์นำสืบว่า การที่โจทก์ที่ 2 ภริยาโจทก์ที่ 2 ภริยาโจทก์ที่ 1 ไปกู้เงินหลายครั้งนั้นเนื่องมาจากสัญญาขายฝากที่โจทก์ที่ 1 ทำไว้กับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.1 และโจทก์ที่ 1 ยังไม่ได้รับเงินค่าขายฝากตามสัญญาเงินที่ได้รับก็คือเงินที่โจทก์ที่ 2 ไปกู้จากจำเลยที่ 1 เป็นงวด ๆ จำเลย นำสืบว่าโจทก์ที่ 2 กู้เงินจากจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวกับสัญญาขายฝาก เพราะเงินตามสัญญาขายฝากนั้นฝ่ายโจทก์รับเงินไปแล้ว

พิเคราะห์แล้ว ปัญหาดังกล่าวโจทก์นำสืบถึงเจตนาเบื้องต้นก่อนเข้าทำสัญญาว่า โจทก์ทั้งสองต้องการกู้เงินจากจำเลย จำเลยทั้งสองพูดว่าก็ได้แต่ต้องมีหลักประกันแสดงว่าคู่สัญญามีเจตนาที่จะทำนิติกรรมการกู้เงินต่อกันแล้ว ส่วนหลักประกันคือจำเลยต้องการให้โจทก์นำที่ดินและบ้านมาทำสัญญาขายฝากกับจำเลย โจทก์ก็ตกลงอีก ในที่สุดโจทก์ที่ 1 ซึ่งมีชื่อในโฉนดก็ได้ทำสัญญาจดทะเบียนขายฝากที่ดินและบ้านกับจำเลยที่ 1 สำเร็จ ตามเอกสารหมาย ล.1 จากนั้นโจทก์ที่ 2 ก็ได้กู้เงินจากจำเลยที่ 1 หลายคราว รวมแล้วมีจำนวนมากกว่าเงินในสัญญาขายฝาก 1,000 บาท เงินค่าขายฝากนั้นโจทก์นำสืบว่าไม่ได้รับจากจำเลยในขณะทำสัญญาแต่ต้องบอกเจ้าพนักงานว่ารับเงินแล้วเพราะต้องการทำสัญญาให้ลุล่วงจำเลยนำสืบว่า จำเลยได้จ่ายเงินให้โจทก์แล้ว 60,000 บาทตามที่ตกลงกัน แต่จำเลยทั้งสองก็เบิกความแตกต่างกัน โดยจำเลยที่ 1 เบิกความว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบเงินให้โจทก์ที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 เบิกความว่าจำเลยที่ 1 มอบเงินให้โจทก์ที่ 2 นอกจากนั้นได้ความว่าเมื่อทำสัญญาในวันนั้นแล้ว โจกท์ที่ 2 ก็ไปที่บ้านจำเลยที่ 1 ทำการกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 ในเย็นวันเดียวกันทันที 30,000 บาท และกู้ต่อมาอีกหลายคราวรวมเป็นเงิน 70,000 บาท โดยไม่มีหลักประกันอันใด จึงเชื่อว่าการจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ที่ 2 กู้เงินในวันทำสัญญาและเดือนต่อ ๆ มาโดยไม่มีหลักประกันก็เพราะโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของโจทก์ที่ 2 ได้ทำสัญญาขายฝากบ้านและที่ดินตามเอกสารหมาย ล.1 ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นหลักประกันไว้แล้ว และโจทก์ยังมิได้รับเงินค่าขายฝากจึงมากู้กันภายหลังเป็นงวด ๆ ที่จำเลยนำสืบว่าการกู้เงินของโจทก์ที่ 2 ไม่เกี่ยวกับสัญญาขายฝากนั้นเป็นการนำสืบตรงกันข้ามกับที่จำเลยได้ให้การไว้ในคดีหมายเลขดำที่ 350/2521 หมายเลขแดงที่ 517/2522 ของศาลชั้นต้นว่าเงินที่จะให้โจทก์กู้นั้นจำเลยต้องกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารมาให้โจทก์ โจทก์จึงเลือกเอาการรับค่าขายฝากจากจำเลยเป็นงวด ๆ เพื่อประหยัดดอกเบี้ยที่จะเสีย จำเลยให้การรับไว้ดังนี้แล้วนำสืบเป็นอย่างอื่นนั้นรับฟังไม่ได้ คดีจึงชัดแจ้งสมข้อนำสืบของโจทก์ว่าการที่โจทก์จำเลยทำสัญญาขายฝากต่อกันไว้นั้นโจทก์ที่ 1 ยังมิได้รับเงินเพราะมิได้มีเจตนาจะให้มีผลจริงจัง เป็นนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณีที่จะไม่ผูกพันกันตามเจตนาที่แสดงออกเป็นการอำพรางนิติกรรมกู้เงินที่จะทำการกู้เป็นงวด ๆ ในจำนวนใกล้เคียงกับจำนวนเงินในสัญญาขายฝากซึ่งเป็นนิติกรรมอันแรกสัญญาขายฝากตามเอกสารหมาย ล.1 จึงเป็นโมฆะ ตามมาตรา 118 วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนนิติกรรมอันหลังสัญญากู้เงินตามงวดที่ถูกอำพรางไว้โดยนิติกรรมอันแรกเป็นอันใช้บังคับได้แม้การกู้เงินบางงวดมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ ก็ย่อมถือได้ว่าเอกสารขายฝากเป็นนิติกรรมขายฝากโมฆะ จำเลยชอบที่จะคืนทรัพย์ตามสัญญาขายฝากและรับเงินจำนวนที่ให้กู้ไว้”

พิพากษายืน

Share