คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3091/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 บัญญัติให้นายจ้างได้รับการชดใช้จากลูกจ้างเฉพาะค่าสินไหมทดแทนที่นายจ้างได้ชดใช้ให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำไว้เท่านั้นค่าฤชาธรรมเนียมในคดีก่อนที่ผู้เสียหายฟ้องนายจ้างและลูกจ้างให้ร่วมกันรับผิดในละเมิดที่ศาลพิพากษาให้คู่ความชดใช้แก่กันนั้นเป็นการใช้ดุลพินิจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161ส่วนค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดนั้นศาลวินิจฉัยให้รับผิดชดใช้กันตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 428 ถึง 447 ซึ่งมิได้กล่าวถึงค่าฤชาธรรมเนียมที่คู่ความจะต้องชดใช้กันในคดีละเมิดไว้ ดังนั้นจะถือว่าค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลพิพากษาให้นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันชดใช้ให้ผู้เสียหายในคดีก่อนเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดไม่ได้ นายจ้างจึงฟ้องขอให้ลูกจ้างชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลพิพากษาให้นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายเป็นจำนวนทั้งหมดไม่ได้ แต่คำพิพากษาในคดีดังกล่าวมีผลทำให้นายจ้างและลูกจ้างเป็นลูกหนี้ร่วมของผู้เสียหาย ความรับผิดในระหว่างลูกหนี้ร่วมจะต้องเป็นไปตามมาตรา 296 ซึ่งบัญญัติให้ต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กันในกรณีนี้นายจ้างจึงมีสิทธิให้ลูกจ้างชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ชำระเกินไปกว่าความรับผิดคืนจากลูกจ้างได้ตามส่วน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างประจำของสำนักงานส่งเสริมเยาวชนสังกัดอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการโจทก์ ศาลแพ่งได้พิพากษาคดีถึงที่สุดตามคดีหมายเลขแดงที่ 5884/2520 ของศาลแพ่งให้จำเลยสำนักงานส่งเสริมเยาวชนและโจทก์ร่วมกันชำระเงิน 396,000 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมให้แก่นางกอบแก้ว นาจพินิจเด็กชายปานนก นาจพินิจ และเด็กหญิงหทัยชนก นาจพินิจโจทก์ทั้งสามในคดีดังกล่าว เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ทั้งสามชนะคดี กำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท จากกรณีที่จำเลยกระทำละเมิดขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้นายณกรณ์ นาจพินิจถึงแก่ความตาย ซึ่งโจทก์ก็ได้ชำระเงินตามคำพิพากษาดังกล่าวคือต้นเงิน 396,000 บาท ดอกเบี้ย 28,627.50 บาท ค่าฤชาธรรมเนียม10,544 บาท และค่าทนายความ 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 440,171.50 บาทไปแล้ว โจทก์จึงไล่เบี้ยให้จำเลยชดใช้เงินดังกล่าว แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เหตุละเมิดจำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิด โจทก์ไม่มีสิทธิจะฟ้องไล่เบี้ยให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 424,627.50 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียม 15,544 บาท แก่โจทก์ด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลพิพากษาให้คู่ความชดใช้แก่กันนั้น ศาลใช้ดุลพินิจสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ส่วนค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดนั้นศาลวินิจฉัยให้รับผิดชดใช้กันตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 ถึง 447 ซึ่งมิได้กล่าวถึงค่าฤชาธรรมเนียมที่คู่ความจะต้องชดใช้กันในคดีละเมิดไว้ ดังนั้นจะถือว่าค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ให้โจทก์ในคดีละเมิดเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดไม่ได้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 บัญญัติให้นายจ้างได้รับการชดใช้จากลูกจ้างเฉพาะค่าสินไหมทดแทนที่นายจ้างได้ชดใช้ให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำไว้เท่านั้น โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยและสำนักงานส่งเสริมเยาวชน ร่วมกันชดใช้ให้แก่นางกอบแก้วกับพวกทั้งหมดไม่ได้ แต่คำพิพากษาดังกล่าวมีผลทำให้โจทก์จำเลยและสำนักงานส่งเสริมเยาวชน เป็นลูกหนี้ร่วมของนางกอบแก้วกับพวกความรับผิดในระหว่างลูกหนี้ร่วมจะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 296 ซึ่งบัญญัติให้ต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน ในกรณีนี้โจทก์จึงมีสิทธิให้จำเลยชดใช้เงิน 1 ใน 3 ส่วน ของค่าฤชาธรรมเนียมจำนวน 15,544 บาทที่โจทก์ชำระไปแล้ว คิดเป็นเงินจำนวน 5,181.33 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าจำเลยไม่ต้องชดใช้ให้โจทก์ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 429,808.83 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share