คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3088/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ขับรถตัดหน้ารถยนต์ผู้อื่นในระยะกระชั้นชิดอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 52 วรรคแรกและไม่ให้สัญญาณก่อนเลี้ยว ฝ่าฝืนมาตรา 36 จนรถที่จำเลยที่ 2ขับมาในเส้นทางของตนตามปกติชนกับรถของจำเลยที่ 1ดังนี้ เป็นความประมาทของจำเลยที่ 1 โดยตรงหาใช่เพราะเหตุสุดวิสัยหรือเป็นอุบัติเหตุไม่
ผู้เสียหายมีบาดแผลฉีกขาดบนใบหน้าหลายแห่งต้องเย็บตามคิ้วเปลือกตาบนและที่แก้ม เมื่อแผลหายจะมีแผลเป็นติดใบหน้า มองเห็นได้ชัดเจนในระยะ 15 เมตร ถือได้ว่าหน้าเสียโฉมอย่างติดตัวอันเป็นอันตรายสาหัสแล้ว จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ลงโทษตามมาตรา 300 ซึ่งเป็นบทหนัก

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 52, 151, 157 ให้ลงโทษฐานขับรถประมาทมีผู้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 3 เดือน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง3 เดือน ให้ยกฟ้อง สำหรับจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมานั้น การที่จำเลยเลี้ยวกลับรถเช่นนั้น จำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังแล้ว แต่เป็นเพราะเหตุสุดวิสัยและเป็นอุบัติเหตุ รถจึงเกิดชนกัน ไม่ใช่ความประมาทของจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ขับรถเลี้ยวโดยกระทันหัน ตัดหน้ารถของจำเลยที่ 2 อย่างกระชั้นชิด และก่อนเลี้ยวรถจำเลยที่ 1 ไม่ได้เปิดสัญญาณไฟเลี้ยว จึงเป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยทั้งสองชนกัน ซึ่งศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ขับรถตัดหน้ารถยนต์ผู้อื่นในระยะกระชั้นชิด อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 52 วรรคแรก และไม่ให้สัญญาณก่อนเลี้ยว ฝ่าฝืนมาตรา 36 จนรถที่จำเลยที่ 2 ขับมาในเส้นทางของตนตามปกติเกิดชนกับรถของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นความประมาทของจำเลยที่ 1โดยตรง หาใช่เพราะเหตุสุดวิสัยหรือเป็นอุบัติเหตุดังจำเลยที่ 1 ฎีกาไม่

ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าบาดแผลซึ่งนางเครือวัลย์ ขุนสนิทผู้เสียหายได้รับไม่ถึงกับทำให้หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว ไม่เป็นอันตรายถึงสาหัสนั้นผู้เสียหายมีบาดแผลปรากฏตามคำให้การของแพทย์หญิงศรีสุกัญญาธีรศาสตร์เอกสารหมาย จ.6 ที่คู่ความรับกันคือ บริเวณคิ้วขวายาว 4 เซนติเมตร เปลือกตาขวาด้านบนยาว 1 เซนติเมตร หัวตาขวาฉีกยาว1 เซนติเมตรแผลฉีกที่คิ้วขวายาว 2 เซนติเมตร หัวคิ้วซ้ายฉีกยาว 3 เซนติเมตร บริเวณแก้มซ้าย 3 แห่ง ยาวแห่งละ 1 เซนติเมตร ถลอกที่จมูก บาดแผลรักษาประมาณ 10 วัน ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อน หลังจากบาดแผลหายแล้ว จะมีแผลเป็นติดใบหน้ามองเห็นได้ชัดเจนในระยะ 15 เมตร และปรากฏตามคำเบิกความของร้อยตำรวจตรีวีระชัย วันกนกกุล พนักงานสอบสวนว่าหลังเกิดเหตุ 2 วันพบผู้เสียหายเห็นมีรอยแผลถูกเย็บบริเวณใบหน้าหลายแห่ง เห็นว่า บาดแผลฉีกขาดบนใบหน้าหลายแห่งต้องเย็บตามคิ้ว เปลือกตาบนและที่แก้ม เมื่อแผลหายจะมีแผลเป็นติดใบหน้า มองเห็นได้ชัดเจนในระยะ15 เมตร ถือได้ว่าหน้าเสียโฉมอย่างติดตัว อันเป็นอันตรายสาหัสแล้ว

ปัญหาสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้รอการลงโทษจำเลยที่ 1 ไว้นั้น เห็นว่าการที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด3 เดือน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังมีกำหนด 3 เดือน จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาล เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายืน

Share