คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1198/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ของหมั้นไม่จำต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของชายคู่หมั้น แม้จะเป็นของคนอื่นก็อาจเป็นของหมั้นและตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่หญิงในเมื่อสมรสแล้วได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1436 ก็ใช้คำว่า ฝ่ายชาย มิได้ใช้คำว่า ชายเฉยๆ
พ.สามีจำเลยกับจำเลยได้ไปทำการหมั้นโจทก์ให้แก่จ.ซึ่งเป็นบุตรของ พ. โดยใช้แหวนเป็นของหมั้น แหวนนี้จะเป็นเพียงจำเลยให้ยืมโดย พ. ทราบด้วยหรือไม่ทราบก็ตาม เมื่อปรากฏว่าทางฝ่ายโจทก์และบิดามารดาโจทก์หาได้ทราบความข้อนี้ด้วยไม่ จึงจะเอาข้อตกลงระหว่าง จ. กับจำเลยตลอดจนความไม่รู้ของ พ. หากเป็นความจริงไปผูกมัดโจทก์ไม่ได้
การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้กำหนดค่าฤชาธรรมเนียมให้โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายชนะนั้น โจทก์อาจฎีกาได้ตามมาตรา168 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่โจทก์ไม่ได้ฎีกา เป็นแต่เพียงแถลงมาในคำแก้ฎีกานั้นย่อมไม่ได้ แต่เนื่องจากเวลาพิพากษาศาลฎีกามีอำนาจสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตลอดไปถึงของศาลล่างด้วยโดยอาศัยอำนาจนี้ ศาลฎีกาอาจวินิจฉัยเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนี้ให้ได้ในเมื่อเห็นสมควร
เมื่อพ้นกำหนดยื่นคำแก้อุทธรณ์ตามมาตรา 237 วรรคต้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้ว จำเลยจะยื่นคำแก้อุทธรณ์ไม่ได้ จะยื่นได้ก็แต่ในฐานะคำแถลงการณ์ตามมาตรา246,186 วรรคสอง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ก็รับไว้หากยื่นคำแก้อุทธรณ์ภายหลังกำหนดและศาลรับไว้ในฐานะเป็นคำแถลงการณ์เท่านั้น ซึ่งมีผลว่าจำเลยจะตั้งประเด็นในศาลอุทธรณ์ไม่ได้ เพราะเป็นแต่เพียงคำแถลงการณ์ ไม่ใช่คำแก้อุทธรณ์ซึ่งเป็นคำคู่ความที่จำเลยอาจตั้งประเด็นได้
การยื่นคำแก้อุทธรณ์ภายหลังกำหนดอันถือได้ว่าเป็นการยื่นคำแถลงการณ์นี้ ก็ถือได้ว่าทนายของจำเลยอุทธรณ์ได้ว่าคดีในชั้นศาลอุทธรณ์เหมือนกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์กับจำเลยได้เป็นเฒ่าแก่ฝ่ายชาย ในการประกอบพิธีหมั้นระหว่างหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุรัชนีกับโจทก์ และได้ประทานแหวนเพ็ชรลูกขนาด 11 กะรัตเศษวงหนึ่งให้เป็นของหมั้น โจทก์กับหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุได้ทำการสมรสกันแล้ว โจทก์ได้มอบแหวนหมั้นให้แก่หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุนำไปถวายกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์และจำเลยให้ช่วยเก็บรักษา โดยตำหนักที่อยู่ไม่ค่อยมิดชิด และไม่มีตู้นิรภัย ต่อมากรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ก็สิ้นพระชนม์ ปรากฏว่าได้ทำพินัยกรรม ยกทรัพย์ทั้งหมดให้แก่จำเลยผู้เดียว โจทก์ได้ขอแหวนคืนจำเลยไม่ยอม จึงขอให้ศาลบังคับ หากไม่ยอมคืนหรือคืนไม่ได้ ก็ให้ใช้ราคาทรัพย์ จำเลยต่อสู้ว่าหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุมาขอยืมแหวนวงนี้จากจำเลย เพื่อไปใช้เป็นแหวนหมั้นชั่วคราว และว่าฟ้องเคลือบคลุม ศาลแพ่งเห็นว่า ฟ้องไม่เคลือบคลุม และเห็นว่าแหวนนี้เป็นของหมั้น โดยผลของกฎหมายย่อมตกเป็นสิทธิแก่โจทก์ ทางฝ่ายชายจะมีข้อตกลงเป็นเงื่อนไขอย่างไรหามีผลผูกพันฝ่ายหญิงไม่ พิพากษาให้จำเลยคืนแหวนพิพาทให้แก่โจทก์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาว่า กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ไม่ได้รู้เห็นยินยอมหรือประทานแหวนรายพิพาทให้เป็นของหมั้น ของหมั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่หญิง จะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของชายคู่หมั้นก่อน ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม

โจทก์แก้ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ได้กำหนดให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียม ค่าทนายชั้นอุทธรณ์ให้แก่โจทก์

ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องไม่เคลือบคลุม การหมั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ไม่ได้เปลี่ยนรูปสัญญาหมั้นของหมั้นไม่จำเป็นต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของชายคู่หมั้น แม้จะเป็นของคนอื่น ก็อาจเป็นของหมั้น และตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่หญิงเมื่อสมรสได้ มาตรา 1436 ก็ใช้คำว่า ฝ่ายชาย มิได้ใช้คำว่า ชาย เฉย ๆ คดีนี้ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์และจำเลยได้เป็นผู้ไปทำการหมั้นโจทก์ให้แก่ หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ โดยใช้แหวนรายพิพาทเป็นของหมั้นแหวนเพ็ชรนี้จะเป็นเพียงจำเลยให้ยืม โดยกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงทราบด้วยในขณะให้ยืมหรือไม่ก็ตาม ไม่สำคัญ เพราะปรากฏว่าทางฝ่ายโจทก์ และบิดามารดาโจทก์หาทราบความข้อนี้ด้วยไม่ จึงเอาข้อตกลงระหว่าง หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุและจำเลยตลอดจนความไม่ทรงทราบของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หากว่าเป็นความจริงไปผูกมัดโจทก์ไม่ได้

ส่วนที่โจทก์กล่าวมาในคำแก้ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ได้กำหนดค่าฤชาธรรมเนียมนั้น กรณีเช่นนี้โจทก์อาจฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 168 แต่ถ้าโจทก์จะประสงค์ฎีกาในข้อนี้ โจทก์ต้องทำเป็นรูปคำฟ้องฎีกาโดยเสียค่าธรรมเนียมจะร้องมาในคำแก้ฎีกาไม่ได้ อย่างไรก็ดีเนื่องจากศาลฎีกาพิพากษาศาลฎีกามีอำนาจสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตลอดไปถึงของศาลล่างด้วย ฉะนั้น ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรที่จะพิเคราะห์ โดยอาศัยอำนาจนี้ ตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งว่าด้วยอัตราค่าทนายความและหมายเหตุปรากฏว่า โจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์หลังจากรับสำเนาอุทธรณ์แล้วประมาณ 3 เดือน และคดีไม่มีการแถลงด้วยวาจาต่อหน้าศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 237 วรรคต้น จำเลยอุทธรณ์ (โจทก์ในคดีนี้) หากประสงค์จะยื่นคำแก้อุทธรณ์ก็ต้องยื่นเสียภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งสำเนาอุทธรณ์ เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วสิทธิของจำเลยที่จะยื่นคำแก้อุทธรณ์ก็หมดไป แต่ยังมีสิทธิยื่นคำแถลงการณ์ได้ตามมาตรา 246 และ มาตรา 186 วรรค 2 คำฟ้องอุทธรณ์และคำแก้อุทธรณ์นั้น แม้จะเป็นคำคู่ความ แต่ก็มีลักษณะผิดกับคำฟ้องและคำให้การในศาลชั้นต้นกล่าวคือ คำฟ้องอุทธรณ์ และคำแก้อุทธรณ์เป็นไปในลักษณะคำคู่ความกับคำแถลงการณ์รวมกัน (ดูมาตรา 1(16) ประโยคท้าย) ฉะนั้น เมื่อพ้นกำหนดยื่นคำแก้อุทธรณ์ตามมาตรา 237 วรรคต้นแล้ว จำเลยอุทธรณ์จะยื่นคำแก้อุทธรณ์ไม่ได้ จะยื่นได้ก็แต่ในฐานเป็นคำแถลงการณ์หาใช่คำแก้อุทธรณ์ไม่ แม้จำเลยอุทธรณ์จะใช้คำแก้อุทธรณ์ และหากศาลยอมรับไว้ ศาลฎีกาก็รับไว้ในฐานะเป็นคำแถลงการณ์เท่านั้นผลผิดกันในข้อสำคัญที่ว่า เมื่อยื่นเป็นคำแก้อุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์อาจตั้งประเด็นในศาลอุทธรณ์ได้ภายในกรอบที่กฎหมายว่าไว้ แต่ถ้ายื่นภายหลังกำหนดและถือเป็นคำแถลงการณ์แล้ว จะตั้งประเด็นเช่นว่านั้นไม่ได้ ถ้าตั้งประเด็นมาก็ฟังไม่ได้ เพราะการตั้งประเด็นต้องตั้งด้วยคำคู่ความ จะตั้งด้วยคำแถลงการณ์หาได้ไม่ การที่จำเลยอุทธรณ์ยื่นคำแก้อุทธรณ์หลังกำหนดอันได้ว่าเป็นการยื่นคำแถลงการณ์เช่นนี้ จะว่าทนายความของจำเลยอุทธรณ์ไม่ได้ว่าคดีในชั้นศาลอุทธรณ์นั้นเสียเลยก็ไม่ได้ การที่ทนายความมาแถลงการณ์ด้วยวาจา ถือได้ว่าเป็นการว่าคดีฉันใด การแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรก็ถือได้ว่าเป็นการว่าคดีฉันนั้น ศาลฎีกาเข้าใจว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ก็ได้พิเคราะห์แล้ว หากแต่เห็นว่าค่าทนายความควรเป็นพับไป จึงมิได้สั่ง ว่าตามตัวบทก็มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 167 กำหนดไว้ว่า ศาลจะต้องสั่ง สั่งอย่างไรก็ดังที่กล่าวไว้ในมาตรา 161 ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า ควรเป็นพับ ก็น่าจะได้สั่งไว้เพื่อจะได้ตรงกับตัวบทและปราศจากความสงสัย

พิพากษายืน

Share