แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย ฯลฯ ซึ่งมีกำหนด 6 เดือนถูกยกเลิกโดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 3 จึงต้องใช้อายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448เป็นบทบังคับ
จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำร่องเรือเดินสมุทร ซึ่งนายเรือต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ในการนำร่อง จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ควบคุมยานพาหนะอันเกิดด้วยเครื่องจักรกลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 เมื่อจำเลยที่ 1สั่งให้นายเรือเลี้ยวขวาเพื่อทอดสมอโดยยังไม่พ้นเรือโจทก์ที่จอดอยู่เป็นเหตุให้เรือที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำร่องโดนเรือโจทก์เสียหาย ซึ่งหากจำเลยที่ 1 สั่งให้แล่นไปให้พ้นเสียก่อนแล้วจึงเลี้ยวขวาเพื่อทอดสมอก็จะไม่เกิดเหตุขึ้น จึงเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย ฯลฯ ซึ่งกำหนดให้ผู้นำร่องต้องใช้ความระมัดระวังมากที่สุดเพื่อป้องกันความเสียหายและถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช้ความช่ำชองในวิชาการเรือซึ่งตนมีอยู่จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ประมาทเลินเล่อ แม้เรือโจทก์จะจอดเทียบเป็นลำที่ 3ซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายก็มิใช่ผลโดยตรงที่ก่อให้เรือโดนกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นพนักงานนำร่องอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๒ มีหน้าที่จัดการนำร่องเรือเดินสมุทรเข้าออกในแม่น้ำเจ้าพระยาจึงเป็นผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยเครื่องจักรกลจำเลยที่ ๑ โดยคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ให้ปฏิบัติหน้าที่นำร่องเรือเดินสมุทรมารีนเทรดเดอร์เข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อถึงบริเวณหน้าโรงสีเจริญไทยมีเรือฉลอมของโจทก์จอดเทียบขนถ่ายข้าวสารลงเรือโกต้าบางเต็ง ซึ่งเป็นที่คับขันและเรือมารีนเทรดเดอร์กำลังแล่นตามน้ำ จำเลยที่ ๑ สั่งให้กัปตันเรือกลับเรือโดยกะทันหัน ท้ายเรือจึงเบนไปโดนเรือโจทก์อย่างแรงอัดกับเรือโกต้าบางเต็งได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองซ่อมเรือหรือชดใช้ค่าซ่อมเรือแก่โจทก์ และใช้ค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์ด้วย
จำเลยทั้งสองให้การว่า พนักงานนำร่องมีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่นายเรือหรือกัปตันผู้ควบคุมเรือเพื่อบังคับเรือให้เดินถูกต้องตามร่องเท่านั้นเหตุคดีนี้เกิดขึ้นเพราะเครื่องจักรเรือทำงานช้า ท้ายเรือจึงเบียดเรือโจทก์เรือโจทก์จอดเทียบเรือใหญ่ลำที่ ๓ เป็นการจอดฝ่าฝืนกฎหมาย จึงมิใช่ความประมาทของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ แนะนำการจอดเรือถูกวิธีทุกประการจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์โจทก์ฟ้องคดีเกิน ๖ เดือนนับแต่เกิดเหตุจึงขาดอายุความ ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖มาตรา ๓๐๘ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองซ่อมเรือให้แก่โจทก์หากไม่ซ่อมก็ให้จำเลยใช้ค่าซ่อมเรือแทนโจทก์ และให้ใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ด้วย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ มาตรา ๓๐๘ นั้น ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้หลังจากเกิดเหตุแล้ว ๘ เดือน ปัญหาว่าจะใช้อายุความ ๖ เดือนตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ มาตรา ๓๐๘ หรือใช้อายุความ ๑ ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓ ได้บัญญัติให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายนี้หรือซึ่งแย้งกับบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ ปัญหาที่จะวินิจฉัยคดีนี้เป็นเรื่องอายุความฟ้องร้องเกี่ยวกับละเมิด ซึ่งมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ แล้ว และอายุความฟ้องร้องเกี่ยวกับละเมิดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ มาตรา ๓๐๘ ก็ขัดแย้งกับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นจึงถูกยกเลิกโดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ เห็นว่า คดีนี้ต้องใช้มาตรา ๔๔๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นบทบังคับ โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองได้เพราะตั้งแต่วันเกิดเหตุถึงวันฟ้องยังไม่เกิน ๑ ปี
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ประมาทเลินเล่อทำให้เรือโจทก์เสียหาย นั้น ตามกฎกระทรวงเศรษฐการออกตามความในมาตรา ๓ และมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย ฯลฯ ข้อ ๓๒ว่า เมื่อจะทำการนำร่องเรือกลไฟลำใด ผู้นำร่องต้องขอทราบจากนายเรือว่าเครื่องจักรของเรือลำนั้นใช้ได้เป็นปกติและถอยหลังได้คล่องแคล่วรวดเร็วดีตัวสมออยู่พ้นน้ำพร้อมเพรียงที่จะใช้ได้ทันที และเครื่องถีบท้ายเรียบร้อยไม่มีสิ่งใดกีดขวางและใช้ได้คล่องดีเป็นปกติหรือไม่ ถ้าเรือลำนั้นมีกำลังไอน้ำไม่พอ หรือเครื่องประกอบเรือดังกล่าวแล้วไม่เรียบร้อยพอที่จะป้องกันมิให้เกิดภยันตรายได้แล้วจะงดนำเรือนั้นไว้จนกว่านายเรือจะจัดการให้เรียบร้อยเสียก่อนก็ได้ และถ้านายเรือขืนจะให้นำเรือในขณะนั้นจงได้ ก็ให้รายงานต่อหัวหน้ากองตรวจท่าหรือเจ้าท่าซึ่งจะเป็นผู้วินิจฉัยและสั่งการโดยเด็ดขาด
ข้อ ๓๗ ผู้นำร่องที่กระทำการนำร่องมีหน้าที่ต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัดตามบทแห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ พระราชบัญญัติป้องกันเหตุเรือโดนกันฯ และพระราชบัญญัติอื่น ๆ ตลอดจนกฎข้อบังคับที่เกี่ยวเนื่องกัน
ข้อ ๔๗ ผู้นำร่องทุกคนที่นำร่องเรือลำใด ต้องใช้ความระมัดระวังและพยายามให้มากที่สุด ที่จะหลีกเลี่ยงหรือป้องกันมิให้เกิดอันตรายหรือเสียหายขึ้นแก่เรือลำนั้นหรือลำอื่นหรือแก่ทรัพย์สิ่งของใด ๆ ฯลฯ
เมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นพนักงานนำร่องเรือมารีนเทรดเดอร์จำเลยที่ ๑ จึงมีหน้าที่ควบคุมเรือมารีนเทรดเดอร์ให้แล่นไปสู่เป้าหมายด้วยความปลอดภัยในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น จำเลยที่ ๑จึงเป็นผู้ควบคุมยานพาหนะอันเดินด้วยเครื่องจักรกล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๓๗ แม้นายเรือและพนักงานเรือก็ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งในการนำร่องของจำเลยที่ ๑ ด้วย มิใช่จำเลยที่ ๑เป็นเพียงผู้แนะนำนายเรือดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเมื่อถึงจุดทอดสมอ จำเลยที่ ๑ ได้สั่งให้นายเรือเลี้ยวขวาแต่หัวเรือจะชนตลิ่ง จึงสั่งให้นายเรือถอยหลังหัวเรือหมุนเข้ากลางน้ำ จึงสั่งให้หยุดเครื่องจักรและสั่งให้เดินหน้า แต่เรือไม่อาจเดินหน้าได้ทันท่วงที เพราะเรือยังถอยหลังเล็กน้อยตามแรงเฉื่อยท้ายเรือจึงไปปะทะเรือโจทก์ ทั้งนี้เพราะเหตุการณ์ในเครื่องจักรกลของเรือมารีนเทรดเดอร์และนายเรือ ประกอบกับเรือโจทก์จอดเทียบเป็นลำที่ ๓ อันฝ่าฝืนกฎหมายนั้น เห็นว่า หากจำเลยที่ ๑ สั่งให้นายเรือแล่นเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา และแล่นไปให้พ้นตรงที่จอดเรือโจทก์เสียก่อนแล้วจึงเลี้ยวขวาเพื่อทอดสมอ หรือปฏิบัติหน้าที่ตามกฎกระทรวงดังกล่าวประกอบกับใช้ความช่ำชองในวิชาการเรือเป็นอย่างดีที่มีอยู่ด้วยแล้ว ก็จะไม่เกิดเหตุโดนกันขึ้น เมื่อจำเลยที่ ๑ ละเลยไม่ปฏิบัติการดังกล่าวจึงเห็นได้ชัดว่าจำเลยที่ ๑ ประมาทเลินเล่อทำให้เรือมารีนเทรดเดอร์โดนเรือโจทก์เสียหาย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าเรือโจทก์จอดเทียบเป็นลำที่ ๓ ฝ่าฝืนกฎหมายก็ตาม ก็หาใช่เป็นผลโดยตรงที่ก่อให้เรือมารีนเทรดเดอร์โดนเรือโจทก์ไม่ ข้อกล่าวอ้างของจำเลยทั้งสองเพื่อปัดความรับผิดจึงรับฟังไม่ได้
พิพากษายืน