แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การสั่งคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาและมีคำสั่งตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาตามคำร้อง โจทก์ร่วมชอบที่จะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคแรก เพราะคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งภายหลังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วและยังไม่ได้มีการสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 196 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำผิด บัญญัติเกี่ยวกับโทษไว้ว่าต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งจำทั้งปรับ มีอัตราโทษเบากว่าโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิด และเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1และที่ 2 ผู้กระทำความผิด จึงต้องใช้กฎหมายใหม่บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3(1)(3)(5)ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และนับโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธแต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นายนพดล รักมนุษย์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 80,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 เดือนและนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์โดยทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์
โจทก์ร่วมคัดค้าน
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไป 3 วัน นับแต่วันครบกำหนดอุทธรณ์และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์ร่วมอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมว่า อุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ร่วมฟังขึ้น และไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพราะยื่นหลังจากครบกำหนดแล้ว ส่วนอุทธรณ์คำพิพากษาของโจทก์นั้นฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำผิด พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามฎีกาข้อ 2.1 ของจำเลยที่ 1 และที่ 2ที่ว่าคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์และที่สั่งว่าศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นการไม่ชอบนั้นเป็นคำสั่งที่ชอบหรือไม่ในปัญหานี้จำเลยที่ 1และที่ 2 ฎีกาว่า คำร้องขอขยายระยะเวลาไม่ใช่คำคู่ความ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขยายระยะเวลาอุทธรณ์และสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ซึ่งโจทก์ร่วมไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาและมีคำสั่งตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาตามคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าว โจทก์ร่วมก็ชอบที่จะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคแรก เพราะคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งภายหลังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วและยังไม่ได้มีการสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 ที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมแล้วมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 และถือว่าเป็นอุทธรณ์ที่มิชอบแล้วไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3 หลังจากที่มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ใช้บังคับแล้วนั้นชอบหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ฎีกาข้อ 2.2 ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมยกขึ้นว่าในชั้นนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225 และปรากฏว่าระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534บังคับใช้แล้วซึ่งมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำผิดบัญญัติเกี่ยวกับโทษไว้ว่าต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่ากฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดและเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องใช้กฎหมายใหม่ดังกล่าวบังคับแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามที่ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 80,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 เดือน ซึ่งเฉพาะโทษปรับของจำเลยที่ 1เกินอัตราโทษที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ให้ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 50,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์