คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3079/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมแรงงาน ให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติ 8 ชั่วโมงออกไปอีก 4 ชั่วโมง โจทก์ย่อมหมดสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาสำหรับการทำงานเกินเวลาปกติดังกล่าว แต่ยังคงมีสิทธิได้รับค่าจ้างธรรมดาสำหรับเวลาทำงานที่ขยายออกไปนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้มีคำสั่งให้โจทก์ทำงานเกินเวลาปกติวันละ ๔ ชั่วโมง โดยไม่จ่ายค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา แต่หากโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ก็ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับเวลาทำงานที่เกินไปนั้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามกฎหมาย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมแรงงานในการที่มีคำสั่งให้โจทก์ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ๘ ชั่วโมงไปอีก ๔ ชั่วโมงแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด จำเลยได้จ่ายเงินตอบแทนการทำงานเกิน ๘ ชั่วโมงแก่โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในส่วนที่สั่งให้โจทก์ทำงานเกินเวลาในวันทำงานปกติและที่ให้ทำงานในวันหยุดให้แก่โจทก์ ตั้งแต่วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๒๔ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๕ โดยให้ถือว่าที่จำเลยจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษไปแล้ว เป็นการชำระค่าจ้างส่วนหนึ่ง คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่อธิบดีกรมแรงงานได้อนุญาตตามอำนาจที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔ ให้ลูกจ้างทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติ ถือได้ว่าเป็นการขยายกำหนดเวลาทำงานปกติออกไป แม้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างจะไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามประกาศ ฯ ดังกล่าวข้อ ๓๖ แต่จำเลยต้องมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์สำหรับเวลาทำงานที่ขยายไป ๔ ชั่วโมงนั้น หาใช่ว่าลูกจ้างไม่มีสิทธิรับค่าล่วงเวลาแล้วจะถูกตัดสิทธิมิให้รับค่าจ้างธรรมดาไปด้วยไม่ การที่จำเลยจ่ายค่าตอบแทนพิเศษวันละ ๖ บาท สำหรับที่โจทก์ทำงานอีก ๔ ชั่วโมงนั้น คำนวณแล้วน้อยกว่าอัตราค่าจ้างธรรมดา แต่พอจะอนุมานได้ว่าจำเลยถือเอาค่าตอบแทนพิเศษเป็นค่าตอบแทนการทำงานของโจทก์ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share