คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3077/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กระบวนพิจารณาคดีการคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นได้มีพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 บัญญัติไว้เป็นพิเศษในมาตรา 78 และ 79 ว่า ให้ผู้เลือกตั้งหรือพรรคการเมืองซึ่งมีสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลจังหวัดที่เขตเลือกตั้งนั้นตั้งอยู่หรือต่อศาลแพ่งสำหรับกรุงเทพมหานคร เมื่อได้รับคำร้องคัดค้านแล้ว ให้ศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งดำเนินการพิจารณาโดยไม่ชักช้า และให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ทำความเห็นและส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยและให้ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือมีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านเสียแล้วแต่กรณี จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นที่เห็นได้ว่ากฎหมายมุ่งประสงค์ให้ศาลฎีกาเท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดการคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนการที่กฎหมายให้ศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งมีหน้าที่ดำเนินการพิจารณาในเบื้องต้นแล้วทำความเห็นส่งสำนวนไปยังศาลฎีกานั้นก็มีเหตุผลในเรื่องการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีส่วนได้เสียในทำนองเดียวกันและยังมุ่งหมายจะลดภาระของศาลฎีกาในอันที่จะต้องออกนั่งพิจารณาคดีเองอีกประการหนึ่งด้วย ด้วยเหตุผลดังกล่าวการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งในคดีคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่กฎหมายให้ศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งกระทำการแทนศาลฎีกา ส่วนความเห็นของศาลหนึ่งศาลใดดังกล่าวที่ได้ส่งมายังศาลฎีกาพร้อมสำนวนนั้นก็เป็นเพียงข้อเสนอแนะต่อศาลฎีกาโดยตรง ไม่มีลักษณะเป็นคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียจะโต้แย้งคัดค้านได้ และในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีศาลฎีกาก็มิได้ถูกผูกมัดโดยความเห็นของศาลหนึ่งศาลใดดังกล่าวนั้นด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ในกรณีที่เห็นสมควรศาลฎีกาอาจจะมีคำวินิจฉัยคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปได้โดยไม่จำต้องรอฟังความเห็นของศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งก็ได้.
คำร้องบรรยายว่า การเลือกตั้งทุกหน่วยในอำเภอเมืองสระบุรี อำเภอหนองแค อำเภอแก่งคอยและอำเภอวิหารแดง เจ้าหน้าที่กรรมการเลือกตั้งประจำหน่วยจงใจปล่อยปละละเลยให้มีการหมุนเวียนไปลงคะแนนซ้ำบุคคลกัน ด้วยการไปลงคะแนนแทนบุคคลที่ไม่ใช้สิทธิ ซึ่งบางคนบวชเป็นภิกษุ บางคนถึงแก่กรรมไปแล้ว และบางคนก็ไปทำงานชั่วคราวในต่างประเทศ ซึ่งหลักฐานการลงคะแนนส่วนมากไม่มีการลงชื่อผู้ใช้สิทธิหรือหมายเหตุเลขที่บัตรประจำตัวไว้ในช่องผู้ใช้สิทธิแล้ว ผู้ร้องมิได้บรรยายให้เห็นเลยว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใดบ้างที่ไปลงคะแนนให้ผู้ถูกคัดค้านซ้ำอีก การลงคะแนนซ้ำเป็นการลงคะแนนแทนผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใด ที่หน่วยเลือกตั้งใด เป็นการยากที่ผู้คัดค้านจะเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 คำร้องข้อนี้จึงเป็นคำร้องที่เคลือบคลุม (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 127/2489)
คำร้องบรรยายว่า คณะกรรมการตรวจนับบัตรวินิจฉัยและขานคะแนนบัตรด้วยการเข้าข้างผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ด้วยการอ่านบัตรเสียว่าเป็นบัตรดีอันมีอยู่ทุกหน่วยในเขต และบัตรดีซึ่งเป็นของผู้ร้อง กรรมการตรวจนับบัตรกลับวินิจฉัยว่าเป็นบัตรเสีย ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3,000 บัตร ในทุกหน่วยเขตเลือกตั้งในเขตอำเภอเมืองสระบุรี อำเภอหนองแค อำเภอแก่งคอยและอำเภอวิหารแดง ผู้ร้องมิได้บรรยายให้เห็นเลยว่าบัตรชนิดใดที่เป็นบัตรเสีย แต่คณะกรรมการตรวจนับบัตรถือว่าเป็นบัตรดี และบัตรชนิดใดที่เป็นบัตรดีแต่คณะกรรมการตรวจนับบัตรถือว่าเป็นบัตรเสีย ทั้งนี้เพราะบัตรเลือกตั้งนั้นได้กำหนดลักษณะเอาไว้แล้วตามกฎกระทรวง (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ข้อ 9 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 53 และมาตรา 73 ก็บัญญัติถึงบัตรเสียไว้รวม 6 ชนิดด้วยกัน คำร้องข้อนี้ จึงไม่ชัดแจ้งพอที่ผู้คัดค้านจะเข้าใจและต่อสู้คดีได้ จึงเป็นคำร้องที่เคลือบคลุม (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 623/2514)
คำร้องบรรยายว่า ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ได้ละเมิดกฎหมายด้วยการนำดนตรีไปแสดงให้ประชาชนในเขตเลือกตั้งในทุกเขตของจังหวัดสระบุรี อันเป็นการโฆษณาหาเสียง ด้วยการจัดให้มีมหรสพและการรื่นเริงต่าง ๆ และในการเลือกตั้งดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ยังได้จ่ายเงินในการหาเสียงเลือกตั้งเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้มากอันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นั้นสำหรับข้อกล่าวอ้างที่ว่าผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ทำการหาเสียงเลือกตั้งด้วยการจัดให้มีมหรสพและการรื่นเริงต่าง ๆ นั้นถึงหากจะทำการพิจารณาต่อไปและฟังได้ว่าเป็นความจริงการกระทำดังกล่าวก็เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 35(3) และมีโทษตามมาตรา 84 เท่านั้นหาเป็นกรณีที่ผู้ร้องจะร้องคัดค้านเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ตามมาตรา 78 ไม่ ประเด็นข้อนี้จึงไม่จำต้องยกขึ้นวินิจฉัย ส่วนข้อที่กล่าวอ้างว่าผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้ใช้จ่ายเงินในการหาเสียงเลือกตั้งเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้มาก อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 32 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า เมื่อได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งใด ผู้สมัครแต่ละคนจะใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมดเกินสามแสนห้าหมื่นบาทไม่ได้ ทั้งนี้ไม่รวมค่าธรรมเนียมการสมัคร คำร้องของผู้ร้องเฉพาะส่วนนี้นอกจากผู้ร้องจะมิได้กล่าวอ้างว่าผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้ใช้จ่ายไปในการหาเสียงเลือกตั้งทั้งหมดเกินจำนวน 350,000 บาท ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ผู้ร้องก็ยังมิได้กล่าวข้อเท็จจริงโดยแจ้งชัดว่าผู้คัดค้านทั้งสามได้ใช้จ่ายเงินไปในกิจการใดบ้าง อันพอสมควรที่ผู้คัดค้านทั้งสามจะเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ถูกต้องคำร้องของผู้ร้องส่วนนี้จึงเคลือบคลุมเช่นเดียวกัน(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2964/2522)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดสระบุรี ซึ่งมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๒๖ ผู้ร้องเห็นว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันดังกล่าวเป็นไปโดยมิชอบคือ
๑. การเลือกตั้งทุกหน่วยในอำเภอเมืองสระบุรี อำเภอหนองแค อำเภอแก่งคอยและอำเภอวิหารแดง เจ้าหน้าที่กรรมการเลือกตั้งประจำหน่วยได้จงใจปล่อยปละละเลยให้มีการหมุนเวียนกันไปลงคะแนนซ้ำบุคคลกัน ด้วยการไปลงคะแนนแทนบุคคลที่ไม่ใช้สิทธิ ซึ่งบางคนบวชเป็นภิกษุบางคนถึงแก่กรรมไปแล้ว และบางคนไปทำงานชั่วคราวในต่างประเทศ ซึ่งในหลักฐานการลงคะแนนส่วนมากไม่มีการลงชื่อผู้ใช้สิทธิหรือหมายเหตุเลขที่บัตรประจำตัวไว้ในช่องที่มีผู้ใช้สิทธิแล้ว แต่ในหน่วยของอำเภออื่นกลับมิได้เป็นเช่นนั้น
๒. คณะกรรมการตรวจนับบัตรวินิจฉัยและขานคะแนนบัตรด้วยการเข้าข้างพลตรีประมาณ อดิเรกสาร นายปองพล อดิเรกสาร และนายเงิน บุญสุภา ผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยการอ่านบัตรเสียว่าเป็นบัตรดี ทั้งๆ ที่เป็นบัตรเสียอันมีอยู่ทุกหน่วยในเขต และบัตรดีซึ่งเป็นของผู้ร้องกรรมการตรวจนับคะแนนกลับวินิจฉัยว่าเป็นบัตรเสีย ไม่ขานคะแนนให้ผู้ร้องมีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ บัตร ในทุกหน่วยเลือกตั้งในเขตอำเภอเมืองสระบุรี อำเภอหนองแค อำเภอแก่งคอย และอำเภอวิหารแดง
๓. นอกจากนี้พลตรีประมาณและนายปองพลผู้สมัครรับเลือกตั้งยังกระทำละเมิดกฎหมายด้วยการนำดนตรีไปแสดงให้ประชาชนในเขตเลือกตั้งทุกเขตของจังหวัดสระบุรีอันเป็นการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพและการรื่นเริงต่าง ๆ และในการเลือกตั้งดังกล่าวพลตรีประมาณ นายปองพลและนายเงินยังได้ใช้จ่ายเงินในการหาเสียงเลือกตั้งเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้มาก อันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นการเลือกตั้งโดยมิชอบ อาจเป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงผลผู้ได้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระบุรีได้ ขอให้มีคำสั่งไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง แล้วส่งสำนวนไปให้ศาลฎีกาพิจารณาและมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่
ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีผู้คัดค้านที่ ๑ ยื่นคำคัดค้านว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๒๖ เจ้าหน้าที่และกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งมิได้กระทำการอันใดดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง หากแต่เจ้าหน้าที่และกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งทุกคนในทุกหน่วยเลือกตั้งทุกอำเภอตลอดเขตเลือกตั้งจังหวัดสระบุรีได้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ กฎกระทรวงและระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งทุกประการ ซึ่งเป็นการปฏิบัติโดยเปิดเผย ต่อหน้าประชาชนผู้แทนพรรคการเมือง ผู้สมัครและผู้แทนผู้สมัครซึ่งอยู่ ณ ที่นั้น โดยไม่ปรากฏว่ามีการโต้แย้งคัดค้านการปฏิบัติการของกรรมการและเจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งหน่วยหนึ่งหน่วยใดในวันเลือกตั้งนั้นเลย โดยเฉพาะผู้ร้องไม่เคยแต่งตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้แทนของตน ณ หน่วยเลือกตั้งหน่วยใดเลย การกล่าวอ้างของผู้ร้องจึงไม่อาจรับฟังได้
ในการเลือกตั้งดังกล่าวปรากฏว่าผู้ร้องได้คะแนนรวมน้อยกว่าพลตรีประมาณ ๑๙,๕๕๕ คะแนน น้อยกว่านายเงิน บุญสุภา ๑๓,๓๕๒ คะแนน และน้อยกว่านายปองพล อดิเรกสาร ๔,๗๗๔ คะแนน ดังนั้นแม้การรวมคะแนนผิดพลาดทำให้ผู้ร้องได้คะแนนเพิ่มขึ้นอีก ๓,๐๐๐ คะแนนก็ไม่ทำให้ผู้ร้องได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระบุรี การที่ผู้ร้องอ้างว่าพลตรีประมาณและนายปองพลผู้สมัครรับเลือกตั้งนำดนตรีไปแสดงให้ประชาชนชม อันเป็นการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพและการรื่นเริงต่าง ๆ นั้น ก็ไม่เป็นเหตุให้ผู้ร้องมีสิทธิร้องคัดค้านได้ตามกฎหมาย ข้อที่ผู้ร้องอ้างว่าพลตรีประมาณ นายปองพล และนายเงินใช้จ่ายเงินในการหาเสียงเลือกตั้งเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนดนั้น ผู้คัดค้านไม่ทราบเพราะผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้ง ๓ คนยังมิได้ยื่นรายการค่าใช้จ่ายเกี่ยวแก่การเลือกตั้งขอให้ทำความเห็นให้ยกคำร้องของผู้ร้องส่งไปเพื่อศาลฎีกาวินิจฉัยและมีคำสั่ง
พลตรีประมาณ อดิเรกสาร ผู้คัดค้านที่ ๒ นายปองพล อดิเรกสารผู้คัดค้านที่ ๓ และนายเงิน บุญสุภา ผู้คัดค้านที่ ๔ ต่างยื่นคำคัดค้านมีใจความทำนองเดียวกันว่า
(๑) ผู้ร้องมิได้บรรยายหรือระบุว่าบุคคลใดบ้างเป็นผู้หมุนเวียนกันลงคะแนนซ้ำบุคคลกัน และหมุนเวียนกันลงคะแนนในนามของบุคคลใด ให้แก่ผู้สมัครคนใด บุคคลใดที่ไม่ไปใช้สิทธิ แต่มีผู้ใดไปใช้สิทธิแทนอีกประการหนึ่งที่ผู้ร้องอ้างว่าหลักฐานส่วนมากไม่มีการลงชื่อผู้ใช้ชื่อหรือหมายเหตุเลขที่บัตรประจำตัวไว้ในช่องที่มีผู้ใช้สิทธิแล้วก็ดีล้วนเป็นความเท็จ ทั้งผู้ร้องมิได้บรรยายมาให้ชัดแจ้งว่าหลักฐานส่วนมากที่ว่านั้นเป็นหลักฐานจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยเลือกตั้งใด ตำบลอำเภอใด รวมทั้งสิ้นกี่หน่วย ย่อมเป็นคำร้องเคลือบคลุมตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๗/๒๔๘๙และ ๗๑๗/๒๔๘๙
(๒) ที่ผู้ร้องกล่าวหากรรมการและเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งว่านับคะแนนไม่ตรงกับความจริง ผู้ร้องก็มิได้บรรยายว่า บัตรชนิดใดที่เป็นบัตรดีแต่กรรมการตรวจคะแนนว่าเป็นบัตรเสีย และบัตรชนิดใดเป็นบัตรเสียแต่กรรมการตรวจคะแนนว่าเป็นบัตรดี ซึ่งเป็นคำร้องเคลือบคลุมตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๒๓/๒๕๒๔
(๓) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระบุรีตามคำร้อง กรรมการตรวจคะแนนและเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการเลือกตั้งได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยความสุจริต กรรมการตรวจขานคะแนนก็ตรวจขานคะแนนถูกต้องตรงตามความจริง จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการเลือกตั้งใหม่ ทั้งการตรวจนับคะแนนก็เป็นไปโดยเปิดเผยต่อหน้าสาธารณชนและผู้ร้องก็มีผู้แทนประจำหน่วยเลือกตั้ง หากมีการทุจริตผิดพลาดก็ควรคัดค้านเสียในขณะนั้น การที่ผู้ร้องมาร้องคัดค้านเมื่อประกาศผลการเลือกตั้งแล้วเป็นการที่ผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
(๔) ผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๒ ไม่เคยนำดนตรีไปแสดงให้ประชาชนชมระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง หรือทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพและการรื่นเริงต่าง ๆ ทั้งการกระทำดังกล่าวก็หาเป็นเหตุให้ผู้ร้องมีสิทธินำมาเป็นข้อคัดค้านการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่
(๕) ผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ มิได้ใช้จ่ายเงินในการหาเสียงเลือกตั้งเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด คำร้องของผู้ร้องข้อนี้ไม่เป็นความจริง อนึ่งผู้ร้องมิได้ระบุว่าผู้คัดค้านได้ใช้จ่ายเงินจำนวนทั้งสิ้นเท่าใด ใช้จ่ายเงินทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เท่าใดและหรือแก่ใคร ผู้ใด ย่อมเป็นคำร้องเคลือบคลุม
(๖) ในคำร้องข้อ ๒ ผู้ร้องระบุว่า ถ้าหากการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องเห็นว่าอาจเป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงผลผู้ได้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระบุรีได้ คำร้องดังกล่าวไม่เป็นการยืนยันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปโดยมิชอบ จึงเป็นคำร้องเคลือบคลุมตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๕๐/๒๕๑๒ อีกประการหนึ่งผู้ร้องมิได้อ้างว่าหากไม่มีพฤติการณ์เกิดขึ้นตามที่ผู้ร้องกล่าวหาแล้วจะทำให้ผู้ร้องได้คะแนนเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากเพิ่มจะเพิ่มเท่าใด อันจะเป็นผลให้ผู้คัดค้านคนใดไม่ได้รับการเลือกตั้งและตนจะได้รับคะแนนมากกว่าผู้คัดค้านคนใดจนถึงขนาดจะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระบุรีหรือไม่ จึงเป็นการเลื่อนลอยและเคลือบคลุม ขอให้มีคำสั่งว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระบุรีเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๒๖ เป็นไปโดยชอบไม่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการเลือกตั้งใหม่ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ต่อมาผู้คัดค้านที่ ๒ ยื่นคำร้องว่าคำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุม ขอให้ศาลชั้นต้นเสนอความเห็นไปยังศาลฎีกาเพื่อพิพากษายกคำร้องเสียทั้งหมด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าให้รอไว้สั่งตอนทำความเห็น
ผู้คัดค้านที่ ๒ ฎีกาคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า กระบวนพิจารณาคดีการคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ได้มีพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติไว้เป็นพิเศษในมาตรา ๗๘ และ๗๙ ว่า ให้ผู้เลือกตั้ง ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองซึ่งมีสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลจังหวัดที่เขตเลือกตั้งนั้นตั้งอยู่หรือต่อศาลแพ่งสำหรับกรุงเทพมหานคร เมื่อได้รับคำร้องคัดค้านแล้วให้ศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งดำเนินการพิจารณาโดยไม่ชักช้า และให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ทำความเห็นและส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย และให้ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือมีคำสั่งให้ยกคำร้องคัดค้านเสียแล้วแต่กรณี จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นที่เห็นได้ว่ากฎหมายมุ่งประสงค์ให้ศาลฎีกาเท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดคดีการคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การที่กฎหมายให้สิทธิแก่ผู้เลือกตั้ง ผู้สมัครและพรรคการเมืองยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลจังหวัดหรือศาลแพ่ง เป็นเรื่องที่กฎหมายมุ่งจะให้ความสะดวกแก่ผู้มีส่วนได้เสียดังที่จะมิต้องมาใช้สิทธิร้องคัดค้านและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อศาลฎีกาโดยตรงส่วนการที่กฎหมายให้ศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งมีหน้าที่ดำเนินการพิจารณาในเบื้องต้นแล้วทำความเห็นส่งสำนวนไปยังศาลฎีกานั้น ก็มีเหตุผลในเรื่องการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีส่วนได้เสียในทำนองเดียวกันและยังมุ่งหมายจะลดภาระของศาลฎีกาในอันที่จะต้องออกนั่งพิจารณาคดีเองประการหนึ่งด้วย ด้วยเหตุผลดังกล่าวการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งในคดีคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่กฎหมายมอบหมายให้ศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งกระทำการแทนศาลฎีกา ส่วนความเห็นของศาลหนึ่งศาลใดดังกล่าวที่ได้ส่งมายังศาลฎีกาพร้อมกับสำนวนนั้นก็เป็นเพียงข้อเสนอแนะต่อศาลฎีกาโดยตรง ไม่มีลักษณะเป็นคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียจะโต้แย้งคัดค้านได้ และในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีศาลฎีกาก็มิได้ถูกผูกมัดโดยความเห็นของศาลหนึ่งศาลใดดังกล่าวนั้นด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ในกรณีที่เห็นสมควรศาลฎีกาอาจจะมีคำวินิจฉัยคดีคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปได้โดยไม่จำต้องรอฟังความเห็นของศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งก็ได้ สำหรับคดีนี้เมื่อได้พิเคราะห์คำร้องและคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านทุกฝ่ายแล้วศาลฎีกาเห็นว่าหากจะได้ทำการวินิจฉัยคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นของผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ แล้ว จะไม่ต้องทำการพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดีบางข้อ อันจะทำให้การพิจารณาไม่ต้องชักช้าสมดังเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นผู้ทำการพิจารณามีความเห็นตลอดมาว่ายังไม่สมควรจะมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามคำร้องของผู้คัดค้าน ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรจะมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามคำร้องของผู้คัดค้านเสียเองตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในชั้นชี้สองสถาน
สำหรับประเด็นข้อแรกที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ว่า การใช้สิทธิเลือกตั้งของทุกหน่วยในอำเภอเมืองสระบุรี อำเภอหนองแค อำเภอแก่งคอย และอำเภอวิหารแดงเป็นไปโดยถูกต้องหรือไม่นั้น ตามคำร้องของผู้ร้องข้อ ๑ ได้บรรยายไว้ในข้อ ๑ ว่า การเลือกตั้งทุกหน่วยในอำเภอเมืองสระบุรี ในอำเภอหนองแค อำเภอแก่งคอย และอำเภอวิหารแดง เจ้าหน้าที่ กรรมการเลือกตั้งประจำหน่วยจงใจปล่อยปละละเลยให้มีการหมุนเวียนไปลงคะแนนซ้ำบุคคลกัน ด้วยการไปลงคะแนนแทนบุคคลที่ไม่ใช้สิทธิ ซึ่งบางคนบวชเป็นภิกษุบางคนถึงแก่กรรมไปแล้ว และบางคนก็ไปทำงานชั่วคราวในต่างประเทศ ซึ่งหลักฐานการลงคะแนนส่วนมากไม่มีการลงชื่อผู้ใช้สิทธิหรือหมายเหตุเลขที่บัตรประจำตัวไว้ในช่องผู้ใช้สิทธิแล้วผู้ร้องมิได้บรรยายให้เห็นเลยว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใดบ้างที่ไปลงคะแนนให้ผู้ถูกคัดค้านซ้ำอีกการลงคะแนนซ้ำเป็นการลงคะแนนผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใด ที่หน่วยเลือกตั้งใด เป็นการยากที่ผู้คัดค้านเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๗๒ คำร้องของผู้ร้องในประเด็นข้อนี้จึงเคลือบคลุมตามแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๗/๒๔๘๙ ระหว่างพระพิไสยสุนทรการ ผู้คัดค้าน นายวงศ์ ไชยสุวรรณ ผู้ถูกคัดค้าน
ประเด็นข้อสองที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ว่าการนับบัตรถูกต้องหรือไม่นั้นผู้ร้องบรรยายไว้ในคำร้องข้อ ๑ ว่า ๒ คณะกรรมการตรวจนับบัตรวินิจฉัยและขานคะแนนบัตรด้วยการเข้าข้างผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ด้วยการอ่านบัตรเสียว่าเป็นบัตรดี อันมีอยู่ทุกหน่วยในเขต และบัตรดีซึ่งเป็นของผู้ร้อง กรรมการตรวจนับบัตรกลับวินิจฉัยว่าเป็นบัตรเสีย ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ บัตร ในทุกหน่วยของเขตเลือกตั้งในเขตอำเภอเมืองสระบุรี อำเภอหนองแค อำเภอแก่งคอยและอำเภอวิหารแดง ผู้ร้องมิได้บรรยายให้เห็นเลยว่าบัตรชนิดใดที่เป็นบัตรเสียแต่คณะกรรมการตรวจนับบัตรถือว่าเป็นบัตรดี และบัตรชนิดใดที่เป็นบัตรดีแต่คณะกรรมการตรวจนับถือว่าเป็นบัตรเสีย ทั้งนี้เพราะบัตรเลือกตั้งนั้นได้กำหนดลักษณะเอาไว้แล้วตามกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๙ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๓ และมาตรา ๗๓ ก็บัญญัติถึงบัตรเสียไว้รวม ๖ ชนิดด้วยกัน คำร้องของผู้ร้องในข้อนี้จึงไม่ชัดแจ้งพอที่ผู้คัดค้านจะเข้าใจและต่อสู้คดีได้ เป็นคำร้องเคลือบคลุมตามแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๒๓/๒๕๑๔ ระหว่างนายสวัสดิ์ ขวัญเมือง ผู้ร้อง นายเพียรศักดิ์ นิสสัยสุข ที่ ๑ นายเกษม จียะพันธ์ ที่ ๒ ผู้คัดค้าน
ส่วนประเด็นข้อสามซึ่งเป็นข้อสุดท้ายที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ว่าผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ใช้จ่ายเงินในการหาเสียงโดยชอบหรือไม่ และผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๓ หาเสียงโดยชอบหรือไม่นั้น ผู้ร้องบรรยายไว้ในคำร้องข้อ ๑ ว่า ๓ ผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ ได้ละเมิดกฎหมายด้วยการนำดนตรีไปแสดงให้ประชาชนในเขตเลือกตั้งในทุกเขตของจังหวัดสระบุรีอันเป็นการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพและการรื่นเริงต่าง ๆ และในการเลือกตั้งดังกล่าวผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ยังได้ใช้จ่ายเงินในการหาเสียงเลือกตั้งเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้มากอันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สำหรับข้อกล่าวอ้างที่ว่าผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ ทำการหาเสียงเลือกตั้งด้วยการจัดให้มีมหรสพและการรื่นเริงต่าง ๆ นั้นถึงหากจะทำการพิจารณาต่อไปและฟังได้ว่าเป็นความจริง การกระทำดังกล่าวก็เป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๕(๓)และมีโทษตามมาตรา ๘๔ เท่านั้น หาเป็นกรณีที่ผู้ร้องจะร้องคัดค้านเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ตามมาตรา ๗๘ ไม่ ประเด็นข้อสามเฉพาะส่วนนี้จึงไม่จำต้องยกขึ้นวินิจฉัยต่อไป คดีคงเหลือเฉพาะประเด็นข้อสามส่วนที่กล่าวอ้างว่าผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ได้ใช้จ่ายเงินในการหาเสียงเลือกตั้งเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้มาก อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ วรรคแรกที่บัญญัติไว้ว่า เมื่อได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งใด ผู้สมัครแต่ละคนจะใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมดเกินสามแสนห้าหมื่นบาทไม่ได้ ทั้งนี้ไม่รวมค่าธรรมเนียมการสมัคร คำร้องของผู้ร้องเฉพาะส่วนนี้นอกจากผู้ร้องจะมิได้กล่าวอ้างว่าผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ได้ใช้จ่ายเงินในการหาเสียงเลือกตั้งทั้งหมดเกินจำนวน ๓๕๐,๐๐๐ บาท ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ผู้ร้องก็ยังมิได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงโดยแจ้งชัดว่าผู้คัดค้านทั้งสามได้ใช้จ่ายเงินไปในกิจการใดบ้าง อันพอสมควรที่ผู้คัดค้านทั้งสามจะเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ถูกต้อง คำร้องของผู้ร้องส่วนนี้จึงเคลือบคลุมเช่นเดียวกันตามแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๖๔/๒๕๒๒ ระหว่างนายจำลอง ครุฑขุนทด ผู้ร้อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมากับพวกรวม ๔ คน ผู้คัดค้าน คำร้องของผู้คัดค้านที่ ๒ ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องดำเนินการพิจารณาต่อไป
จึงให้ยกคำร้องของผู้ร้องเสีย

Share