คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3075/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาซื้อขาย โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและปรับจำเลยผู้ขายได้ทั้งตามข้อ 8 และข้อ 9 ซึ่งตามสัญญาซื้อขายข้อ 9 วรรคแรกระบุว่า ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ใช่สิทธิบอกเลิกตามข้อ 8 ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละศูนย์จุดสอง (0.2) ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันถัดครบกำหนดการส่งมอบตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจนถูกต้องครบถ้วนการที่จำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์ โจทก์ได้ทวงถามเป็นหนังสือไปยังจำเลย 3 ฉบับ และสงวนสิทธิที่จะปรับจำเลยเป็นรายวัน จำเลยมีหนังสือขอผ่อนผันการส่งมอบรถยนต์ต่อโจทก์รวม 4 ครั้ง แต่ในที่สุดจำเลยก็ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์ได้ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา ดังนี้ การที่โจทก์สงวนสิทธิที่จะปรับจำเลยนั้นเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิตามสัญญาซื้อขาย ข้อ 9 วรรคแรกแล้วก่อนที่จะบอกเลิกสัญญาดังนั้น เมื่อจำเลยผิดสัญญาจึงต้องชำระค่าปรับให้โจทก์ตามข้อสัญญาดังกล่าว และต่อมาในระหว่างที่มีการปรับนั้นเมื่อโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญา และริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือประกันตามสัญญาข้อ 7กับเรียกร้องให้ใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 8 วรรคสอง นอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาได้อีกตามสัญญาข้อ 9 วรรค 2 แต่เนื่องจากโจทก์เรียกค่าปรับมาสูงเกินส่วนเงินค่าปรับดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับอย่างน้อย ศาลมีอำนาจลดลงได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2528 จำเลยทำสัญญาขายรถยนต์ประกอบอุปกรณ์พร้อมปฏิบัติการให้แก่โจทก์จำนวน 2 คัน ราคาคันละ 1,061,000 บาท รวมเป็นราคาทั้งสิ้น2,122,000 บาท ทั้งนี้โดยมีข้อตกลงว่าหากจำเลยไม่ส่งมอบรถยนต์ทั้งสองคันตามสัญญา จำเลยยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวันอัตราร้อยละ0.2 ของราคารถยนต์ นับแต่วันครบกำหนดตามสัญญา หากโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้ โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับดังกล่าวไปจนถึงวันบอกเลิกสัญญา นอกจากนี้โจทก์มีสิทธิริบหลักประกันจำนวนร้อยละ 10 ของราคาสิ่งของด้วย ปรากฎว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงใช้สิทธิปรับจำเลยและบอกเลิกสัญญากับจำเลย รวมจำนวนวันที่จำเลยต้องเสียเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น 546 วันคิดเป็นเงินเบี้ยปรับ 2,317,224 บาท และหลักประกันที่จำเลยถูกริบคิดเป็นเงินได้ 212,200 บาท ดอกเบี้ยสำหรับเบี้ยปรับนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี คำนวณได้ 246,205.05 บาทรวมกับต้นเงินเบี้ยปรับเป็น 2,563,429.05 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่30 กันยายน 2528 จำเลยทำสัญญาขายรถยนต์ประกอบอุปกรณ์พร้อมปฏิบัติการได้ซึ่งผลิตจากประเทศฝรั่งเศษเป็นรถยนต์ตราอักษร ACMAT VLRA4 x 4 ขนาด 1 1 ตัน จำนวน 2 คัน ราคาคันละ 1,061,000 บาทรวมเป็นเงิน 2,122,000 บาท ให้โจทก์ กำหนดส่งมอบในวันที่ 28 มีนาคม2529 เมื่อครบกำหนดตามสัญญา จำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์โจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยรวม 3 ฉบับ จำเลยมีหนังสือผ่อนผันการส่งมอบรถยนต์ต่อโจทก์รวม 4 ครั้ง ครั้งสุดท้ายจำเลยยืนยันจะส่งมอบภายในวันที่ 18 กันยายน 2530 แต่จำเลยก็ผิดนัด โจทก์ได้บอกเลิกสัญญากับจำเลย เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2530 และให้จำเลยชำระเบี้ยปรับร้อยละ 0.2 ของราคาสิ่งของภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้วเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม2530 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธิปรับจำเลยเป็นรายวันในอัตราร้อยละศูนย์จุดสอง (0.2) ของราคารถยนต์ที่ยังไม่ส่งมอบนับแต่วันถัดครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาได้หรือไม่และมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งหรือไม่ เห็นว่าตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและปรับจำเลยผู้ขายได้ทั้งตามข้อ 8 และข้อ 9ซึ่งตามสัญญาซื้อขาย ข้อ 9 วรรคแรกระบุว่าในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกตามข้อ 8 ผู้ขายยกให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละศูนย์จุดสอง (0.2) ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันถัดครบกำหนดการส่งมอบตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจนถูกต้องครบถ้วน การที่จำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์ โจทก์ได้ทวงถามเป็นหนังสือไปยังจำเลย3 ฉบับ และสงวนสิทธิที่จะปรับจำเลยเป็นรายวัน จำเลยมีหนังสือขอผ่อนผันการส่งมอบรถยนต์ต่อโจทก์รวม 4 ครั้ง แต่ในที่สุดจำเลยก็ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์ได้ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเห็นว่าการที่โจทก์สงวนสิทธิที่จะปรับจำเลยนั้น เป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิตามสัญญาซื้อขาย ข้อ 9 วรรคแรกแล้วก่อนที่จะบอกเลิกสัญญาดังนั้น เมื่อจำเลยผิดสัญญาจึงต้องชำระค่าปรับให้โจทก์ตามข้อสัญญาดังกล่าวและต่อมาในระหว่างที่มีการปรับนั้น เมื่อโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 7 กับเรียกร้องให้ใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 8 วรรคสอง นอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาได้อีกตามสัญญาข้อ 9 วรรค 2 แต่เนื่องจากโจทก์เรียกค่าปรับมาเป็นเงิน 2,317,224 บาท นั้นสูงเกินส่วน เงินค่าปรับดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่ง ศาลมีอำนาจลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์เจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นควรกำหนดเบี้ยปรับในส่วนนี้ให้โจทก์ 1,000,000 บาท และให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 13ตุลาคม 2530 อันเป็นวันผิดนัดตลอดไปจนกว่าจำเลยชำระเงินดังกล่าวให้โจทก์เสร็จสิ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยชำระเงินดังกล่าวให้โจทก์เสร็จสิ้น

Share