คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3074/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน2515 เป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการและกำหนดอำนาจหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการส่วนจังหวัดเท่านั้นหาได้ให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะเป็นผู้ดำเนินการแทนหน่วยราชการในส่วนกลางคือกรมอนามัยผู้เสียหายไม่โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ทำละเมิดกรมอนามัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัดพิจิตร รวมทั้งหัวหน้าสถานีอนามัยตำบลวังตะกูสำนักงานสาธารณสุขอำเภอบางมูลนาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตรและรับผิดชอบในราชการจังหวัดพิจิตร ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 เมื่อระหว่างวันที่22 พฤศจิกายน 2518 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2528 จำเลยได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสถานีอนามัยตำบลวังตะกู มีหน้าที่ในการวินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษา และป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยของประชาชน และเมื่อจำเลยได้รับเงินเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่จากประชาชนผู้เจ็บป่วยโดยชอบแล้ว จำเลยมีหน้าที่นำส่งเงินให้แก่ทางราชการตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ เมื่อระหว่างที่จำเลยดำรงตำแหน่งหัวหน้าสถานีอนามัยตำบลวังตะกูดังกล่าวจำเลยได้บำบัดและรักษาโรคโดยได้ทำคลอดให้แก่นางเฉลียว อิ่มมานางปิ่น ปานเพชรกับพวก และได้รับเงินค่าบำบัดและรักษาโรคดังกล่าวซึ่งเป็นเงินของทางราชการไว้ รวมเป็นเงิน 48,000 บาท และจำเลยได้รับเงินของทางราชการเป็นค่ารักษาโรคจากนางเสวียน นุชเทียนนางสอาด อิ่มมา กับพวกประชาชนผู้เจ็บป่วยรวมเป็นเงิน 127,000 บาทรวมเป็นเงินที่จำเลยได้รับไว้ทั้งสิ้น 175,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวทั้งหมดจำเลยมีหน้าที่นำส่งให้แก่ทางราชการตามหน้าที่และตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ แต่จำเลยหาได้ปฏิบัติหน้าที่และตามระเบียบของทางราชการดังกล่าวไม่ โดยจำเลยได้นำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตน ขอศาลพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 175,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีในเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2528 เป็นต้นไป จนกว่าจะใช้เงินให้โจทก์เสร็จ จำเลยให้การต่อสู้คดีหลายประการ และให้การตัดฟ้องว่า ถึงแม้ว่าโจทก์จะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัดพิจิตร ซึ่งรวมถึงหัวหน้าสถานีอนามัยตำบลวังตะกู แต่ก็เป็นเพียงลำดับการบังคับบัญชาตามสายงานของฝ่ายบริหารของทางราชการเท่านั้น มิได้หมายความว่าโจทก์โดยผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจทำการฟ้องร้องและดำเนินคดีแทนกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ในกรณีที่มีการละเมิดเกิดขึ้นเนื่องจากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการที่สังกัดอยู่ในกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นเหตุให้กรมอนามัยและกระทรวงสาธารณสุขได้รับความเสียหาย และตามฟ้องของโจทก์ก็เป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยได้กระทำการอันเป็นการจงใจปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและโดยทุจริต ซึ่งเท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นหน้าที่ราชการเป็นเหตุให้กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้รับความเสียหาย โจทก์เองหาได้รับความเสียหายแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ภายในอายุความ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในปัญหาที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่นั้น แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายสูญเสียเงินของทางราชการไป 175,000 บาทแต่เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เงินค่าบำบัดรักษาโรคให้แก่ประชาชนผู้เจ็บป่วยจำนวน 175,000 บาท ที่จำเลยทุจริตยักยอกเอาไปนั้นกรมอนามัยเป็นผู้เสียหาย หาใช่โจทก์เป็นผู้เสียหายไม่ โจทก์ก็มิได้ฎีกาโต้แย้งในข้อนี้ จึงฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์มิได้รับความเสียหายโดยตรงเนื่องจากการกระทำของจำเลย ที่โจทก์ฎีกาว่าผู้เสียหายในคดีนี้คือสถานีอนามัยตำบลวังตะกู สังกัดสำนักงานสาธารณสุขอำเภอบางมูลนาก ซึ่งสังกัดอยู่ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร โดยมีสาธารณสุขจังหวัดเป็นหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดและทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งรับผิดชอบในราชการของจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงเป็นผู้มีอำนาจที่จะดำเนินการแทนหน่วยงานซึ่งสังกัดอยู่ในจังหวัดได้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 นั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 เป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการและกำหนดอำนาจหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการส่วนจังหวัดเท่านั้น หาได้ให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะเป็นผู้ดำเนินการแทนหน่วยราชการในส่วนกลางที่เป็นผู้เสียหายซึ่งในคดีนี้คือกรมอนามัยไม่ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้รับมอบอำนาจจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนกลางซึ่งสถานีอนามัยตำบลวังตะกูสังกัดอยู่ให้มีอำนาจในการดำเนินคดีแพ่งในกรณีนี้ตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 2/2521 นั้น ก็ปรากฏว่าโจทก์มิได้กล่าวอ้างตามข้อนี้มาในฟ้อง แต่กลับอ้างว่าโจทก์เองเป็นผู้เสียหายนอกจากนี้ศาลฎีกาได้ตรวจพิเคราะห์คำสั่งดังกล่าวที่โจทก์คัดสำเนาแนบมาท้ายฟ้องฎีกาแล้ว ปรากฏว่า ข้อ 1 ของคำสั่งดังกล่าวนี้ระบุเพียงว่า การแจ้งความเพื่อดำเนินคดีในทางแพ่งและอาญาเมื่อเกิดการทุจริตหรือเสียหายแก่ทรัพย์สินของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่เกิดขึ้นในจังหวัดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทนได้นั้น ก็เป็นการมอบอำนาจในเรื่องการแจ้งความเท่านั้น ไม่มีข้อความระบุชัดว่าผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนกระทรวงสาธารณสุขหรือกรมอนามัยแต่ประการใด”
พิพากษายืน

Share