คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3066/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เป็นค่าวางมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินซึ่งจำเลยเป็นผู้จะซื้อที่ดินจากโจทก์สัญญาดังกล่าวมีข้อความข้อหนึ่งว่าสัญญาจะสมบูรณ์ต่อเมื่อเงินค่าวางมัดจำตามเช็คที่ผู้จะซื้อได้สั่งจ่ายให้แก่ผู้จะขายและธนาคารได้ชำระเงินเรียกเก็บตามเช็คที่ได้สั่งจ่ายเป็นที่เรียบร้อยให้แก่ผู้จะขายแสดงว่าโจทก์และจำเลยตกลงให้ถือเอาการที่ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คพิพาทหรือไม่เป็นเงื่อนไขของการที่จะมีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาจะซื้อจะขายตราบใดที่ธนาคารยังไม่จ่ายเงินตามเช็คพิพาทสัญญาจะซื้อจะขายย่อมไม่มีผลบังคับดังนั้นขณะที่จำเลยออกเช็คพิพาทจึงยังไม่มีหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลยแม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทจำเลยก็ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ปรับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 50,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 6 เดือน
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีปัญหาแต่เฉพาะข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์กับพวกและจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายปรากฏตามเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งโจทก์กับพวกเป็นผู้จะขายจำเลยที่ 1 เป็นผู้จะซื้อ ข้อ 2 มีข้อความว่า “ผู้จะขายตกลงขายและผู้จะซื้อตกลงซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวตามหมายเลขโฉนดที่ดินและน.ส.3 ก. ซึ่งมีเนื้อที่รวมโดยประมาณ 175 ไร่ พร้อมโครง>การในราคาทั้งสิ้นตามที่ตกลงเป็นจำนวนเงิน 66 ล้านบาท(หกสิบหกล้านบาทถ้วน) โดยผู้จะซื้อตกลงวางเงินมัดจำในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมโครงการดังกล่าวนี้เป็นเงิน1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) ส่วนที่เหลือผู้จะซื้อตกลงจะชำระให้แก่ผู้จะขายในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวโดยผู้จะซื้อได้ชำระเงินวางมัดจำนี้เป็นหนี้เป็นเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สำนักงานใหญ่ หมายเลข 5996793ลงวันที่ 15 เมษายน 2533 เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท(หนึ่งล้านบาทถ้วน)” ข้อ 4 มีข้อความว่า “หลังจากผู้จะซื้อได้วางเงินมัดจำในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว ผู้จะขายจะเป็นผู้ติดต่อกับธนาคารในการนัดไถ่ถอนการจดจำนองที่ดินทุกแปลงดังกล่าวแล้วจึงจะนัดทำการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวกับผู้จะซื้อไม่เกินวันที่ 30 เมษายน 2533 หรือภายใน 30 วัน” ข้อ 9 มีข้อความว่า”ผู้จะซื้อยินยอมปฏิบัติตามระเบียบและข้อสัญญาต่าง ๆ ที่บริษัทอ.ไทยการช่าง จำกัด และบริษัทอัจฉริยะรุ่งเรืองกิจ จำกัดโดยนายสิริอร อัจฉริยะอนุชน ที่ได้กระทำการผูกพันกับโครงการมหาวิทยาลัยขอนแก่นทุกประการ ฯลฯ” ข้อ 11 มีข้อความว่า”อุปกรณ์ในสำนักงาน หุ่นจำลองแบบบ้าน หากผู้จะซื้อต้องการนำไปเพื่อก่อสร้างตามโครงการให้ชำระตามแบบ ๆ ละ 50,000 บาท ให้กับผู้จะขาย” ข้อ 13 มีข้อความว่า “หากผู้จะซื้อไม่สามารถรับโอนที่ดินพร้อมโครงการตามหมายกำหนดที่ได้นัดหมายหรือผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดในสัญญาจะซื้อจะขายนี้ ผู้จะซื้อยินดีให้ผู้จะขายริบเงินที่ได้วางมัดจำไว้ และยินดีให้ผู้จะขายเรียกค่าเสียหายได้ตามความเป็นจริงทุกประการ” ข้อ 15 มีข้อความว่า “สัญญาฉบับนี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อเงินค่าวางมัดจำตามเช็คที่ผู้จะซื้อได้สั่งจ่ายให้กับผู้จะขาย และธนาคารได้ชำระเงินเรียกเก็บตามเช็คที่ได้สั่งจ่ายเป็นที่เรียบร้อยให้กับผู้จะขาย” เห็นว่า สัญญาข้อ 15 กำหนดไว้ชัดเจนว่าสัญญาจะซื้อจะขายฉบับนี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อเงินค่าวางมัดจำตามเช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายแก่โจทก์นั้นธนาคารได้ชำระเงินที่เรียกเก็บตามเช็คพิพาทให้โจทก์เรียบร้อยแล้ว แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงให้ถือเอาการที่ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คพิพาทหรือไม่ เป็นเงื่อนไขของการที่จะมีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.10 ตราบใดที่ธนาคารยังไม่จ่ายเงินตามเช็คพิพาท สัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.10 ย่อมยังไม่มีผลบังคับส่วนสัญญาข้อ 13 นั้นมีความหมายว่า เมื่อธนาคารจ่ายเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ ซึ่งทำให้สัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.10มีผลบังคับผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 แล้ว หากจำเลยที่ 1ผิดสัญญาจะซื้อจะขายข้ออื่น ๆ เช่นข้อ 9 หรือข้อ 11 โจทก์มีสิทธิริบเงินมัดจำซึ่งโจทก์ได้รับตามเช็คพิพาทไปแล้ว และเรียกค่าเสียหายได้อีกเท่านั้น ดังนั้นขณะที่จำเลยทั้งสามออกเช็คพิพาทจึงยังไม่มีหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทจำเลยทั้งสามก็ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share