แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กฎกระทรวงฉบับที่ 36 (พ.ศ. 2519) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พุทธศักราช 2473 ข้อ 8(5) ที่กำหนดให้ผู้รับอนุญาตให้ประกอบการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารได้ไม่เกินเจ็ดคนในท้องที่กรุงเทพมหานคร ต้องไม่ยินยอมให้ผู้ขับรถซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทจำกัดหรือสมาชิกของสหกรณ์หรือบุคคลอื่นเช่ารถของบริษัทจำกัดหรือสหกรณ์ไปหารายได้นั้นมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อควบคุมการประกอบการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองบุคคลภายนอก หากผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการฝ่าฝืนกฎกระทรวงโดยนำรถของตนไปให้บุคคลอื่นเช่าหารายได้ ก็อาจได้รับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรืออาจถูกนายทะเบียนยานพาหนะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการเท่านั้น ผู้รับอนุญาตให้ประกอบการหาจำต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ผู้เช่าได้กระทำขึ้นไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับจ้างขนส่งคนโดยสารสาธารณะทั่วราชอาณาจักรตามกฎกระทรวงฉบับที่ 36 (พ.ศ. 2519) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พุทธศักราช 2473 และเป็นเจ้าของรถยนต์แท็กซี่คันหมายเลขทะเบียน 1 ท – 2431 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 ที่ 3ครอบครองรถยนต์ดังกล่าวร่วมกันโดยใช้รับจ้างขนส่งคนโดยสารจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มอบหมายให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้ขับขี่ จำเลยที่ 4 จึงร่วมลงทุนด้วยการใช้แรงงานเมื่อได้ผลประโยชน์ก็นำมาแบ่งกัน จำเลยที่ 4 ขับรถยนต์ดังกล่าวด้วยความประมาทชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย และเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ขาดประโยชน์ซึ่งเคยได้รับจากการใช้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 รับจ้างขนส่งคนโดยสาร ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ให้การว่าเหตุที่รถชนกันไม่ใช่เกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์คันที่จำเลยที่ 4 ขับ และจำเลยที่ 1 ต่อสู้ด้วยว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้เช่ารถยนต์คันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าจึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 4 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัดได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนยานพาหนะให้ประกอบการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารโดยใช้รถยนต์สี่ล้อรับจ้างบรรทุกคนโดยสารได้ไม่เกินเจ็ดคน และจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 36 ข้อ 8(5) โดยต้องไม่ยินยอมให้บุคคลอื่นเช่ารถของตนไปหารายได้ แต่อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาเห็นว่า บทบัญญัติในกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อควบคุมการประกอบการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารของผู้ที่ได้รับใบอนุญาต มิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองบุคคลภายนอก หากผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการฝ่าฝืนกฎกระทรวงโดยนำรถของตนไปให้บุคคลอื่นเช่าหารายได้ก็อาจได้รับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรืออาจถูกนายทะเบียนยานพาหนะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการเท่านั้น ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบการไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งผู้เช่าได้กระทำขึ้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 4 ได้กระทำ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ที่ 3 สำหรับคดีที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์