คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3060-3064/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หนังสือกระทรวงการคลัง เรื่อง มาตรการปรับลดอัตราเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างของรัฐวิสาหกิจประจำปี 2544 เป็นเพียงการผ่อนปรนจำนวนเงินปรับเลื่อนขั้นเงินเดือนหลังปรับลดร้อยละ 1 ตามมติคณะรัฐมนตรีให้กับรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาจำนวนวงเงินเลื่อนขั้นเงินเดือนหลังปรับลดไม่เพียงพอที่จะเลื่อนขั้นเงินเดือนค่าจ้างแก่พนักงานผู้มีสิทธิเลื่อนขั้นคนละ 1 ขั้น เนื่องจากรัฐวิสาหกิจไม่มีข้อบังคับ/คำสั่งกำหนดความดีความชอบเลื่อนขั้นเงินเดือนครึ่งขึ้นหรือมีระเบียบแต่จำนวนเงินเลื่อนขั้นเงินเดือนหลังปรับลดไม่เพียงพอเท่านั้น ส่วนการจะปรับเลื่อนขั้นเงินเดือนให้พนักงานคนใดบ้างเป็นเรื่องที่รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งต้องไปพิจารณาเองตามระเบียบของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ หนังสือกระทรวงการคลังดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นการผ่อนปรนให้ปรับเลื่อนขั้นเงินเดือนครึ่งขั้นไปก่อนแล้วจ่ายเพิ่มหรือปรับให้ภายหลัง จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิใดแก่โจทก์ สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับการปรับเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือไม่ เพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตามข้อบังคับของจำเลย

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และให้เรียกจำเลยทุกสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ.2519 สังกัดกระทรวงคมนาคม โจทก์ทั้งห้าพ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยเนื่องจากเกษียณอายุเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2543 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2543 กระทรวงการคลังมีหนังสือถึงจำเลย เรื่อง มาตรการปรับลดอัตราการเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างของรัฐวิสาหกิจประจำปี 2544 ให้พนักงานที่มีสิทธิเลื่อนขั้นได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนคนละ 1 ขั้น ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 ให้จำเลยดำเนินการเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างประจำปีงบประมาณ 2542 (ผลงานปี 2541) ปีงบประมาณ 2543 (ผลงานปี 2542) และปีงบประมาณ 2544 (ผลงานปี 2543) ให้แก่พนักงาน เป็นผลทำให้โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีกคนละครึ่งขั้นของปี 2541 และปี 2542 จำเลยไม่จ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างประจำปี 2541 และประจำปี 2542 ปีละครึ่งขั้นตามมติคณะรัฐมนตรีให้แก่โจทก์ทั้งห้า และไม่ได้นำเงินดังกล่าวมาใช้เป็นฐานในการคำนวณบำเหน็จให้แก่โจทก์ทั้งห้าทำให้จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ทั้งห้าขาดไป ขอให้บังคับจำเลยจ่างเงินเดือนหรือค่าจ้างประจำปีงบประมาณ 2542 (ผลงานปี 2541) และประจำปีงบประมาณ 2543 (ผลงานปี 2542) รวม 2 ปี เป็นเงิน 43,320 บาท 35,100 บาท 21,780 บาท 19,680 บาท และ 19,680 บาท ตามลำดับ และเงินบำเหน็จส่วนที่ขาดอีกจำนวน 58,144.08 บาท 62,686.20 บาท 40,625.34 บาท และ 36,383.23 บาท ตามลำดับพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากยอดเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยทั้งห้าสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งห้าพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานไปแล้วจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ การไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งห้าอีกคนละครึ่งขั้นในปีงบประมาณ 2542 และปีงบประมาณ 2543 เป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยระเบียบ คำสั่งและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยปรับเพิ่มเงินเดือนและค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งห้าอีกคนละ 0.5 ขั้น เพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินบำเหน็จ ตามเอกสารหมาย จ.1 จ่ายเงินบำเหน็จเนื่องจากการเกษียณอายุให้แก่โจทก์ทั้งห้าจากฐานอัตราเงินเดือน จึงเป็นการจ่ายเงินบำเหน็จจากการทำงานให้แก่โจทก์ทั้งห้าถูกต้องครบถ้วนแล้ว โจทก์ทั้งห้าไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนและค่าจ้างประจำปีงบประมาณ 2542 และประจำปีงบประมาณ 2543 รวมทั้งบำเหน็จส่วนที่ขาดตามฟ้องจากจำเลยอีกพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ว่า คณะกรรมการบริหารของจำเลยออกข้อบังคับฉบับที่ 56 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างประจำปีของพนักงานโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ.2519 มาตรา 20 จึงไม่ใช่กรณีไม่มีกฎหมายแรงงานกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างประจำปีของพนักงานไว้โดยเฉพาะดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยนั้น เห็นว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าข้อบังคับฉบับที่ 56 มีผลใช้บังคับได้ และโจทก์ทั้งห้าอยู่ภายใต้ข้อบังคับดังกล่าว ซึ่งโจทก์ทั้งห้ามิได้โต้แย้งในข้อนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าข้างต้นจึงไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป เป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าว่า จำลยต้องปรับเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีงบประมาณ 2542 และ 2543 ให้โจทก์ทั้งห้าอีกคนละครึ่งขั้นหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ความว่าจำเลยไม่มีข้อบังคับให้เลื่อนขั้นเงินเดือนครึ่งขั้นไว้โดยชัดแจ้ง แต่ตามหนังสือกระทรวงการคลังเอกสารหมาย จ.2 เป็นการอนุมัติผ่อนปรนให้จำเลยเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างแก่พนักงานครึ่งขั้นไปก่อนแล้วจ่ายเพิ่มหรือปรับให้ภายหลัง ขณะจำเลยได้รับหนังสือกระทรวงการคลังเอกสารหมาย จ.2 โจทก์ทั้งห้ายังเป็นลูกจ้างของจำเลย สิทธิขอโจทก์ทั้งห้าที่จะได้รับการปรับเลื่อนขั้นเงินเดือนอีกครึ่งขั้นจึงเกิดขึ้นแล้ว การที่จำเลยไม่ปรับเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีงบประมาณ 2542 และ 2543 ส่วนที่ขาดให้โจทก์ทั้งห้าอีกคนละครึ่งขั้นจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า หนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค. 0209.1/ว.101 ลงวันที่ 22 กันยายน 2543 เรื่อง มาตรการปรับลดอัตราการเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้างของรัฐวิสาหกิจ ประจำปี 2544 เอกสารหมาย จง2 เป็นเพียงการผ่อนปรนจำนวนเงินปรับเลื่อนขั้นเงินเดือนหลังปรับลดร้อยละ 1 ตามมติคณะรัฐมนตรีให้กับรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาจำนวนวงเงินเลื่อนขั้นเงินเดือนหลังปรับลดไม่เพียงพอที่จะเลื่อนขั้นเงินเดือนค่าจ้างแก่พนักงานผู้มีสิทธิเลื่อนขั้นคนละ 1 ขั้น เนื่องจากรัฐวิสาหกิจไม่มีข้อบังคับ/คำสั่งกำหนดความดีความชอบเลื่อนขั้นเงินเดือนครึ่งขั้น หรือมีระเบียบแต่จำนวนเงินเลื่อนขั้นเงินเดือนหลังปรับลดไม่เพียงพอเท่านั้น ส่วนการจะปรับเลื่อนขั้นเงินเดือนให้พนักงานคนใดบ้างเป็นเรื่องที่รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งต้องไปพิจารณาเอาเองตามระเบียบข้อบังคับของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ หนังสือกระทรวงการคลังเอกสารหมาย จ.2 จึงไม่ใช่เป็นการผ่อนปรนให้ปรับเลื่อนขั้นเงินเดือนครึ่งขั้นไปก่อนแล้วจ่ายเพิ่มหรือปรับให้ภายหลังดังที่โจทก์ทั้งห้าอ้าง และไม่ก่อให้เกิดสิทธิใดแก่โจทก์ทั้งห้า สิทธิของโจทก์ทั้งห้าที่จะได้รับการปรับเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือไม่ เพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตามข้อบังคับ ฉบับที่ 56 ของจำเลย ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share