คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 306/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์นำรถเข้าวิ่งรับส่งคนโดยสารร่วมในเส้นทางสัมปทานของบริษัทขนส่ง จำกัด โดยบริษัทขนส่ง จำกัด เรียกค่าตอบแทนจากโจทก์เป็นรายเที่ยว และโจทก์ต้องทำสัญญาโอนทะเบียนรถใส่ชื่อบริษัทขนส่ง จำกัด เป็นเจ้าของ ในระหว่างที่โจทก์ยังคงใช้รถในเส้นทางดังกล่าวอยู่ สัญญาทำกันเป็นรายปี หากไม่ต่อสัญญาจะต้องโอนทะเบียนรถคืนให้แก่โจทก์ส่วนค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการใช้รถยังคงเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องจ่ายเองทั้งสิ้น พฤติการณ์ตามข้อตกลงดังกล่าว ไม่พอฟังว่าโจทก์ได้โอนกรรมสิทธิ์ในรถให้แก่บริษัทขนส่ง จำกัดไปโดยแท้จริงเพราะไม่ปรากฏว่าบริษัทขนส่งจำกัด ได้ชำระราคารถนั้นแต่อย่างใด ทั้งมีข้อตกลงว่าถ้าไม่มีการต่อสัญญาทะเบียนรถจะโอนกลับเป็นของโจทก์ กรรมสิทธิ์ในรถคันดังกล่าวยังเป็นของโจทก์
กรมการบินพลเรือนเป็นหน่วยราชการในสังกัดของจำเลยที่ 3ร้านค้าในกรมได้ตั้งขึ้นตามอำนาจหน้าที่ของเจ้ากรมเพื่อเป็นการช่วยเหลือข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 3 ในด้านสวัสดิการต่างๆอันเป็นนโยบายประการหนึ่งของจำเลยที่ 3 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 รับราชการมีหน้าที่ขับรถยนต์ของกรมการบินพลเรือน ได้ขับรถยนต์ไปทำการขนข้าวสารอันเป็นกิจการของร้านค้ากรมการบินพลเรือน ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในทางราชการส่วนหนึ่ง ดังนี้ จำเลยที่ 3 จะอ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องนอกเหนือวัตถุประสงค์ นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ไม่ต้องร่วมรับผิดไม่ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 85,040 บาทแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าเสียหาย83,240 บาทแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยที่ 3 ฎีกาข้อแรกว่าโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.จ. – 3855 คันเกิดเหตุ เพราะโจทก์ได้โอนทะเบียนรถเป็นของบริษัทขนส่ง จำกัด ไปแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง คดีได้ความจากคำเบิกความของตัวโจทก์ถึงเหตุที่ต้องโอนทะเบียนรถใส่ชื่อบริษัทขนส่ง จำกัด เป็นเจ้าของว่า โจทก์ได้นำรถคันนี้เข้าวิ่งรับจ้างส่งคนโดยสารร่วมในเส้นทางสัมปทานของบริษัทขนส่ง จำกัด โดยทางบริษัทขนส่ง จำกัด เรียกค่าตอบแทนจากโจทก์เป็นรายเที่ยว เที่ยวละ 3 บาท และโจทก์ต้องทำสัญญากับบริษัทขนส่งที่กำหนดให้โจทก์โอนทะเบียนรถใส่ชื่อบริษัทขนส่ง จำกัด เป็นเจ้าของรถในระหว่างที่โจทก์ยังคงใช้รถในเส้นทางสัมปทานดังกล่าวอยู่ สัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัทขนส่ง จำกัด ทำกันเป็นปี ๆ ละ 1 ครั้ง เมื่อหมดสัญญาต้องต่ออายุสัญญาใหม่ หากไม่ต่อสัญญาทางบริษัทขนส่ง จำกัด จะต้องโอนทะเบียนรถคืนให้แก่โจทก์ ส่วนค่าใช้จ่ายในการใช้รถเช่น ค่าจ้างคนขับรถ ค่าคนเก็บค่าโดยสาร ค่าซ่อมแซมรวมทั้งค่าประกันภัยรถยนต์ ยังคงเป็นภารหน้าที่ของโจทก์ต้องจ่ายเองทั้งสิ้น พฤติการณ์ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับบริษัทขนส่ง จำกัด ดังกล่าว จึงยังไม่พอให้รับฟังได้ว่าโจทก์ได้โอนกรรมสิทธิ์ในรถที่ใช้วิ่งร่วมในเส้นทางสัมปทานให้แก่บริษัทขนส่ง จำกัด ไปโดยแท้จริงเพราะไม่ปรากฏว่าทางบริษัทขนส่ง จำกัด ได้ชำระราคารถนั้นแต่อย่างใดแต่กลับมีข้อตกลงว่าถ้าไม่มีการต่อสัญญากันเกี่ยวกับที่ให้โจทก์ใช้รถวิ่งร่วมเส้นทางแล้ว ทะเบียนรถจะโอนกลับเป็นของโจทก์ทันที ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่ากรรมสิทธิ์ในรถคันเกิดเหตุยังเป็นของโจทก์อยู่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

จำเลยที่ 3 ฎีกาข้อสองว่า ร้านค้าของกรมการบินพลเรือนไม่ได้อยู่ในวัตถุประสงค์ของกองทัพอากาศจำเลยที่ 3 การขับรถของจำเลยที่ 1 เพื่อกิจการของร้านค้ากรมการบินพลเรือนไม่ใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการของกรมการบินพลเรือน จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมด้วย พิเคราะห์แล้วได้ความว่ากรมการบินพลเรือนเป็นหน่วยราชการในสังกัดของกองทัพอากาศจำเลยที่ 3 ร้านค้าในกรมการบินพลเรือนได้ตั้งขึ้นตามอำนาจหน้าที่ของเจ้ากรมการบินพลเรือน เพื่อเป็นการช่วยเหลือข้าราชการทหารอากาศในสังกัดของจำเลยที่ 3 ในด้านสวัสดิการต่าง ๆ อันเป็นนโยบายประการหนึ่งของทางราชการกองทัพอากาศจำเลยที่ 3 ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 รับราชการเป็นทหารอากาศมีหน้าที่ในการขับรถยนต์ของกรมการบินพลเรือน กองทัพอากาศจำเลยที่ 3 จำเลยปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา โดยขับรถยนต์ไปทำการขนข้าวสารอันเป็นกิจการของร้านค้ากรมการบินพลเรือนซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในทางราชการส่วนหนึ่ง ดังนี้ จำเลยที่ 3 จะอ้างว่าการกระทำการตามที่ได้ความดังกล่าว เป็นเรื่องนอกเหนือวัตถุประสงค์นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ไม่ต้องร่วมรับผิด จึงหารับฟังได้ไม่”

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะในเรื่องค่าเสียหาย

Share