คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3056/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนว่าร่วมกันวางแผนใช้ยานอนหลับผสมในเครื่องดื่มให้ผู้เสียหายทั้งสองดื่ม และร่วมกันลักทรัพย์หลายรายการในขณะที่ผู้เสียหายทั้งสองหลับก็ตาม แต่ในชั้นพิจารณากลับปฏิเสธว่ามิได้กระทำเช่นนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นชาวต่างชาติ จึงเป็นไปได้ว่าล่ามอาจแปลคำให้การไม่ถูกต้อง ดังนั้น ลำพังคำให้การในชั้นจับกุม และชั้นสอบสวนดังกล่าวยังไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามนั้นได้ โจทก์ยังมีหน้าที่นำพยานหลักฐานอื่นมาสืบให้มั่นคงและฟังได้ว่ามียานอนหลับหรือสารที่ทำให้ง่วงปนอยู่ในเครื่องดื่มที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ให้ผู้เสียหายทั้งสองดื่มจริงตามฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานการตรวจพิสูจน์เครื่องดื่มว่ามีส่วนผสมของยานอนหลับอยู่ด้วย ทั้งไม่มีผลการตรวจร่างกายของผู้เสียหายทั้งสองมาแสดงให้เห็นว่า การที่ผู้เสียหายทั้งสองนอนหลับเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มที่มียานอนหลับหรือสารที่ทำให้ง่วง กรณีจึงยังมีเหตุสงสัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใส่ยานอนหลับในเครื่องดื่มให้ผู้เสียหายทั้งสองดื่มหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดเพียงฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7) วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติและสัญชาติปากีสถานได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ได้อยู่ในราชอาณาจักรภายหลังการอนุญาตสิ้นสุดลง และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติและสัญชาติอินเดียได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่17 พฤศจิกายน 2540 ได้อยู่ในราชอาณาจักรภายหลังการอนุญาตสิ้นสุดลง นอกจากนี้จำเลยทั้งสามร่วมกันปล้นทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง 15 รายการ รวมราคา 26,520บาท ของนายโจดี้ สเปรซเปอร์รี่ ผู้เสียหายที่ 1 และนายเจมี แนทเทินชิฟ ผู้เสียหายที่ 2ไปโดยทุจริต ในการปล้นทรัพย์ดังกล่าว จำเลยทั้งสามร่วมกันนำเครื่องดื่มที่ผสมยาสลบให้ผู้เสียหายทั้งสองดื่มจนหมดสติ เพื่อให้ความสะดวกแก่การปล้นทรัพย์ การพาทรัพย์นั้นไป ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้หรือให้พ้นจากการจับกุม เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสามได้พร้อมทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองที่จำเลยทั้งสามร่วมกันปล้นไปดังกล่าวเป็นของกลางของกลางผู้เสียหายทั้งสองรับคืนไปแล้ว ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 มาตรา 81 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 91

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 81 จำคุกคนละ 3 เดือน จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง จำคุกคนละ 12 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 12 ปี 3 เดือน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 ปี 2 เดือน จำเลยที่ 2มีกำหนด 8 ปี จำเลยที่ 3 มีกำหนด 2 เดือน ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานปล้นทรัพย์

จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7) วรรคสอง จำคุกคนละ 3 ปี เมื่อลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก คนละ 2 ปีสำหรับจำเลยที่ 1 เมื่อรวมโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองแล้ว รวมจำคุก 2 ปี 2 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นคนเชื้อชาติและสัญชาติอังกฤษร่วมดื่มเบียร์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นคนเชื้อชาติและสัญชาติปากีสถาน แล้วผู้เสียหายทั้งสองได้หลับไป เมื่อรู้สึกตัวในวันรุ่งขึ้นพบว่าทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองรวม 15รายการตามบัญชีของกลางคดีอาญาเอกสารหมาย จ.1 หายไป ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2หลบหนีโดยทางรถไฟไปกรุงเทพมหานคร และถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพร้อมจำเลยที่ 3 ได้ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพมหานคร โดยยึดทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองรวม15 รายการที่หายไป ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายได้คืนเอกสารหมาย จ.2 ได้จากจำเลยที่ 2 คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนว่าได้ร่วมกันวางแผนใช้ยานอนหลับผสมเครื่องดื่มยาคูลท์มอมเมาผู้เสียหายทั้งสองจนหลับแล้วลักทรัพย์ต่าง ๆ ของผู้เสียหายทั้งสองไป และผู้เสียหายทั้งสองก็เบิกความว่าได้ดื่มเบียร์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ห้องพักของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ครั้นดื่มกันประมาณ 30 นาที จำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกไปนอกห้อง เมื่อกลับมาจำเลยที่ 2 นำขวดเครื่องดื่มยาคูลท์ซึ่งมีหลอดดูดเสียบอยู่ในขวดมาให้ผู้เสียหายทั้งสองดื่ม หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 อยากฟังเพลงภาษาอังกฤษ ผู้เสียหายทั้งสองจึงชวนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปที่ห้องพักของผู้เสียหายทั้งสองและเปิดเพลงฟังกันผู้เสียหายทั้งสองหลับไปขณะฟังเพลงแรกยังไม่ทันจบ มารู้สึกตัววันรุ่งขึ้นเวลา 13 ถึง 14 นาฬิกา ซึ่งเป็นการหลับที่ยาวนาน แสดงให้เห็นว่าในเครื่องดื่มยาคูลท์ที่จำเลยทั้งสองให้ผู้เสียหายทั้งสองดื่มต้องมีส่วนผสมของยานอนหลับหรือสารที่ทำให้ง่วงแน่นอน ไม่ใช่เกิดจากการที่ผู้เสียหายทั้งสองดื่มเบียร์ เพราะผู้เสียหายที่ 1 ดื่มเบียร์ไปเพียงครึ่งขวดใหญ่ ส่วนผู้เสียหายที่ 2 ดื่มเบียร์เพียง 1 ขวดเล็ก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 เห็นว่า มีเหตุอันควรสงสัยเพราะไม่มีการตรวจพิสูจน์ว่าเป็นยานอนหลับจริงและยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 แล้วที่ 2 แล้วพิพากษาว่าจำเลยที่ 1และที่ 2 มีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7)วรรคสอง โจทก์จึงไม่เห็นด้วยนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนว่าร่วมกันวางแผนใช้ยานอนหลับผสมในเครื่องดื่มยาคูลท์แล้วให้ผู้เสียหายทั้งสองดื่ม เมื่อผู้เสียหายทั้งสองหลับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงร่วมลักทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองรวม 15 รายการตามฟ้องไปก็ตาม แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1และที่ 2 ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ให้การเช่นนั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นชาวต่างชาติ ในการให้การต้องใช้ล่ามแปล จึงเป็นไปได้ว่าล่ามอาจแปลคำให้การไม่ถูกต้อง ดังนั้นลำพังคำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติดังที่ปรากฏในคำให้การนั้นได้ โจทก์จึงยังมีหน้าที่นำพยานหลักฐานอื่นมาสืบให้มีน้ำหนักมั่นคงและให้ฟังได้ว่า มียานอนหลับหรือสารที่ทำให้ง่วงปนอยู่ในขวดเครื่องดื่มยาคูลท์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ผู้เสียหายทั้งสองดื่มจริงตามที่อ้าง แต่โจทก์คงมีผู้เสียหายทั้งสองมาเบิกความเพียงว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายทั้งสองได้ร่วมดื่มเบียร์กับจำเลยที่ 1และที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 นำเครื่องดื่มยาคูลท์มาให้ผู้เสียหายทั้งสองดื่มหลังจากผู้เสียหายทั้งสองดื่มแล้วได้หลับไป เมื่อผู้เสียหายทั้งสองตื่นขึ้นมาพบว่าทรัพย์สินหายไป และจำเลยที่ 1 กับที่ 2 หลบหนีออกจากฟ้องพักของผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้น โดยโจทก์ไม่มีหลักฐานการตรวจพิสูจน์ขวดเครื่องดื่มยาคูลท์ที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ผู้เสียหายทั้งสองดื่มมาแสดงว่ามีส่วนผสมของยานอนหลับอยู่ด้วย ทั้งไม่มีผลการตรวจร่างกายของผู้เสียหายทั้งสองมาแสดงให้เห็นว่าการที่ผู้เสียหายทั้งสองนอนหลับเกิดจากดื่มเครื่องดื่มยาคูลท์ที่มียานอนหลับหรือสารที่ทำให้ง่วง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายทั้งสองได้ดื่มเบียร์ และตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาก็ไม่ยืนยันว่าก่อนผู้เสียหายทั้งสองดื่มเบียร์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อเวลา 22 ถึง 23 นาฬิกา ผู้เสียหายทั้งสองดื่มเบียร์กันมาก่อนมากน้อยเพียงใด ที่โจทก์ฎีกาว่าผู้เสียหายที่ 1 ดื่มเบียร์เพียงครึ่งขวดใหญ่ ส่วนผู้เสียหายที่ 2 ดื่มเบียร์เพียง 1 ขวดเล็ก ไม่น่าจะนอนหลับเพราะเมาเบียร์ แต่เชื่อว่าเพราะจำเลยที่ 1และที่ 2 ใส่ยานอนหลับในเครื่องดื่มยาคูลท์ให้ผู้เสียหายทั้งสองดื่ม จึงยังไม่มีเหตุผลให้เพียงพอรับฟังตามข้ออ้างของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 เห็นว่า กรณียังมีเหตุสงสัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใส่ยานอนหลับ ในเครื่องดื่มยาคูลท์ที่ให้ผู้เสียหายทั้งสองดื่มหรือไม่และยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง และเห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดเพียงฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7) วรรคสอง และพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share