คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3048/2529

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์มอบอำนาจให้ อ.และหรือส. ดำเนินคดีฟ้องร้องจำเลยแทนโจทก์ เป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคน กระทำการครั้งเดียว ต้องปิดอากรแสตมป์ 5 บาทตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 7(ก) ซึ่งใช้บังคับในขณะที่มี การมอบอำนาจ จึงเป็นการปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรแล้ว ไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง หนังสือค้ำประกันมีข้อความว่า จำเลยที่ 2ขอค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามคัลเลอร์แลบในการซื้อเชื่อสินค้าจากโจทก์ ไม่ปรากฏว่ามีห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามคัลเลอร์แลบซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล คงมีแต่จำเลยที่ 1 ซึ่งใช้ชื่อร้านว่าสยามคัลเลอร์แลบ ดังนี้ จำเลยที่ 2 มีเจตนาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่ว่าจะจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือไม่ก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 เจ้าของร้านสยามคัลเลอร์แลบซื้อเชื่อสินค้าจากโจทก์และไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 2ก็ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันจะอ้างว่าตนเป็นผู้ค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามคัลเลอร์แลบซึ่งไม่มีตัวตนหาได้ไม่

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 1,170,810.80 บาทกับดอกเบี้ย 204,502.87 บาท รวม 1,375,301.67 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ในวงเงิน 300,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์มิได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากร โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายอรรคชัย อภิวรานุวัตน์และหรือนายสิทธิชัย จีระจิตสัมพันธ์ ดำเนินคดีฟ้องร้องจำเลยแทนโจทก์ เป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนกระทำการครั้งเดียว ใบมอบอำนาจในกรณีนี้ต้องปิดอากรแสตมป์ 5 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 7 (ก)ซึ่งใช้บังคับในขณะที่มีการมอบอำนาจหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรแล้วไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายให้แจ้งชัดว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดตั้งแต่เมื่อใด เพียงใดและจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินให้โจทก์เป็นจำนวนเท่าใดแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 300,000 บาทตามสำเนาสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องซึ่งมีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่าสัญญาค้ำประกันมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2523เป็นต้นไป ส่วนจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินให้โจทก์เป็นจำนวนเท่าใดแล้วนั้น โจทก์ก็บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์รวมทั้งสิ้น 1,183,300 บาท 85 สตางค์และเคยออกเช็คชำระหนี้บางส่วน แต่เช็ครับเงินจากธนาคารไม่ได้ดังปรากฏตามสำเนาเช็คและใบคืนเช็คท้ายฟ้องซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระเงินให้โจทก์เลย คำฟ้องของโจทก์จึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้วหาเคลือบคลุมไม่
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามคัลเลอร์แลบมิได้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 และสัญญาค้ำประกันมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2523 เป็นต้นไปจะให้จำเลยที่ 2 รับผิดย้อนหลังถึงหนี้สินก่อนวันดังกล่าวไม่ได้นั้น ในประเด็นข้อนี้โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1เป็นลูกค้าของโจทก์และขอเปิดบัญชีซื้อเชื่อสินค้าจากโจทก์โดยใช้ชื่อร้านว่าสยามคัลเลอร์แลบ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันในวงเงิน 300,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.27 เมื่อเดือนตุลาคม 2522 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2524 จำเลยที่ 1 ได้ซื้อเชื่อสินค้าจากโจทก์และว่าจ้างโจทก์ให้บริการตรวจซ่อมแก้ไขข้อชำรุดบกพร่องรวม 45 ครั้ง รวมราคาสินค้าและค่าจ้างเป็นเงินทั้งสิ้น 1,183,300 บาท 85 สตางค์ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2523จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.26และสั่งจ่ายเช็คให้โจทก์รวม 10 ฉบับ เพื่อผ่อนชำระหนี้บางส่วนแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทุกฉบับ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.28 ถึง จ.37
จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยค้ำประกันจำเลยที่ 1แต่ค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามคัลเลอร์แลบ ซึ่งจำเลยที่ 1เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ตามเอกสารหมาย จ.27 นับแต่วันที่ 31มกราคม 2523 ที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน ถึงวันที่ 26กุมภาพันธ์ 2523 ที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระแก่โจทก์
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้หนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.27 จะมีข้อความว่าจำเลยที่ 2 ขอค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามคัลเลอร์แลบในการซื้อเชื่อสินค้าจากโจทก์ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่า มีห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามคัลเลอร์แลบซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแต่อย่างใด คงมีแต่จำเลยที่ 1ซึ่งใช้ชื่อร้านว่าสยามคัลเลอร์แลบ เมื่อจำเลยที่ 1 ขอเครดิตซื้อเชื่อสินค้าจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับรองให้ไว้ต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 มีข้อความว่า ในการที่โจทก์ให้สินเชื่อแก่สยามคัลเลอร์แลบ จำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันในวงเงิน 300,000 บาท ตามหนังสือค้ำประกันลงวันที่ 31 มกราคม 2523 และจำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา 45 วันนับจากวันที่ของอินวอยซ์หากจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามที่ให้สัญญา ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีทันที หนังสือฉบับนี้มีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยานด้วย พิจารณาประกอบกับหนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.27ซึ่งหนังสือรับรองดังกล่าวอ้างถึง ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยที่ 2มีเจตนาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ซึ่งใช้ชื่อร้านว่าสยามคัลเลอร์แลบไม่ว่าจะจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 เจ้าของร้านสยามคัลเลอร์แลบซื้อเชื่อสินค้าจากโจทก์และไม่ชำระหนี้จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันจะอ้างว่าตนเป็นผู้ค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามคัลเลอร์แลบซึ่งไม่มีตัวตนหาได้ไม่ ส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 2 นั้นจำกัดในวงเงิน 300,000 บาท สำหรับการซื้อเชื่อสินค้าตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2523 เป็นต้นไป ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในระหว่างที่สัญญาค้ำประกันมีผลใช้บังคับ จำเลยที่ 1ซื้อเชื่อสินค้าจากโจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 240,452 บาทและไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาซึ่งจะต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีไปจนกว่าจะชำระเสร็จรวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเกินกว่าวงเงิน 300,000 บาทซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในวงเงิน 300,000 บาทจึงชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share