คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3038/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายแล้วพูดขอโทษอย่าให้ผู้เสียหายเอาเรื่อง ผู้เสียหายว่าแล้วกันไปแต่อย่าพูดให้เสียหาย การที่ผู้เสียหายพูดกับจำเลยดังกล่าวเป็นการให้อภัยแก่จำเลยเมื่อจำเลยได้ขอโทษผู้เสียหายแล้ว โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะไม่ไปพูดให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย ยังไม่ถือว่าเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย เพราะผู้เสียหายมิได้พูดว่าจะไม่ดำเนินคดีกับจำเลยตลอดไป แต่ผู้เสียหายจะไม่ดำเนินคดีกับจำเลยต่อเมื่อจำเลยไม่พูดให้เสียหาย ดังนั้นสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำอนาจารจับนมผู้เสียหาย จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นจำคุก 3 เดือน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่โจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2528 เวลา 22.30 นาฬิกา ขณะที่นางสาววรรณา การะเกตุ ผู้เสียหายนั่งรีดผ้าอยู่ที่เตียงนอนเด็กในห้องโถงของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อ่าวมะขาม สักครู่นางอนงค์นาถ คุ้มบ้าน มาเคาะประตูเรียก ผู้เสียหายเปิดประตูให้เข้าห้อง จำเลยและนายสาโรจน์ เหร่บุตร ตามเข้าห้องด้วยแล้วนั่งอยู่ที่ขอบเตียงที่ผู้เสียหายนั่งรีดผ้าอยู่ จำเลยหยิบหนังสือลามกอนาจารให้นางอนงค์นาถดู นางอนงค์นาถว่าไม่ดูแล้วเดินออกไป จำเลยยื่นหนังสือให้ผู้เสียหายดู ผู้เสียหายว่าให้เก็บไว้ ผู้เสียหายรีดผ้าเสร็จแล้วจึงบอกให้จำเลยกับนายสาโรจน์กลับไปเพราะดึกแล้ว จำเลยขอดูโทรทัศน์ก่อน ผู้เสียหายเหนื่อยจึงเอนตัวนอนเล่นสักครู่ จำเลยเอาหนังสือลามกอนาจารมาดูอีกทันใดจำเลยก็กระโจนเข้าใส่ผู้เสียหาย ใช้มือดึงผ้าถุงที่ผู้เสียหายนุ่งกระโจมอกอยู่ร่นลงมาที่เอว แล้วจำเลยใช้มือจับนมผู้เสียหายผู้เสียหายร้องให้คนช่วย นายสาโรจน์มาดึงตัวจำเลยออกไป จำเลยพูดขอโทษอย่าให้ผู้เสียหายเอาเรื่อง ผู้เสียหายว่าแล้วกันไปแต่อย่าพูดให้เสียหาย ต่อมาอีก 2 วัน นางสาวเกตุวดี การะเกตุน้องผู้เสียหายมาบอกผู้เสียหายว่า ตลอด 2 วันที่ผ่านมาจำเลยไปพูดวิจารณ์ผู้เสียหายในหมู่ผู้ชายว่าจำเลยจับนมผู้เสียหายผู้เสียหายจึงไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน
พิเคราะห์แล้ว คงมีปัญหาว่า การที่ผู้เสียหายพูดว่าแล้วกันไปแต่อย่าไปพูดให้เสียหายและเบิกความตอบทนายจำเลยว่า ตอนแรกผู้เสียหายให้อภัยจำเลยแล้วไม่อยากเอาเรื่อง และตอบโจทก์ถามติงว่า เดิมผู้เสียหายไม่ตั้งใจจะเอาเรื่องจำเลย เนื่องจากจำเลยขอโทษผู้เสียหายและเกรงจะเป็นเรื่องทำให้ผู้เสียหายอับอาย เป็นการส่อแสดงว่าผู้เสียหายกับจำเลยได้ยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายอันจะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปหรือไม่นั้นศาลฎีกาเห็นว่า การที่ผู้เสียหายพูดกับจำเลยดังกล่าวเป็นการให้อภัยแก่จำเลยเมื่อจำเลยได้ขอโทษผู้เสียหายแล้ว โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะไม่ไปพูดให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย ยังไม่ถือว่าเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย เพราะผู้เสียหายมิได้พูดว่าจะไม่ดำเนินคดีกับจำเลยตลอดไป แต่ความหมายตามที่ผู้เสียหายพูดเป็นที่เข้าใจได้ว่าผู้เสียหายจะไม่ดำเนินคดีกับจำเลยต่อเมื่อจำเลยไม่ไปพูดให้เสียหาย ดังนั้นสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่เนื่องจากจำเลยอายุยังน้อย ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และกำลังศึกษาอยู่ เพื่อให้จำเลยมีโอกาสกลับตัวประพฤติตนเป็นคนดีต่อไปรอการลงโทษจำเลยไว้ 2 ปี

Share