คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3037/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญากู้เงินระบุว่าจำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่กู้ให้แก่โจทก์ในอัตราสูงสุดตามประกาศของโจทก์ (ปัจจุบันเท่ากับอัตราร้อยละ 19 ต่อปี) และหนังสือยินยอมให้ทำประกันอัคคีภัยระบุว่า จำเลยที่ 1 ยอมชดใช้คืนเบี้ยประกันอัคคีภัยแก่โจทก์เต็มจำนวนพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศของโจทก์ที่กำหนดให้พึงเรียกเก็บได้ (ในปัจจุบันอัตราร้อยละ 19 ต่อปี) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยกรณีลูกค้าผิดนัดหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ จึงเป็นการเรียกดอกเบี้ยโดยฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดอันเป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 (2) แม้ขณะนั้นโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 เพียงอัตราร้อยละ 14 ต่อปี มิได้คิดอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามที่ระบุไว้ก็ตาม ข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้เงินและหนังสือยินยอมให้ทำประกันอัคคีภัยดังกล่าวก็ตกเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้และหนังสือยินยอมได้ แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้และเบี้ยประกันอัคคีภัยพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
โจทก์เป็นผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ ประกอบกับประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ จึงย่อมจำเป็นต้องทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์การเรียกดอกเบี้ยเป็นอย่างดี ส่วนจำเลยทั้งสองเป็นเพียงผู้ประกอบอาชีพค้าขาย โดยสภาพและตามสำนวนไม่ปรากฏเหตุผลที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 จะทราบถึงหลักเกณฑ์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น ลำพังแต่การที่จำเลยที่ 1 นำเงินชำระหนี้แก่โจทก์เพราะตนเป็นหนี้แก่โจทก์แล้วโจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ประกอบการธนาคารพาณิชย์ อันเป็นกิจการซึ่งเป็นที่เชื่อถือของประชาชนได้นำเงินไปจัดการหักชำระหนี้ต่าง ๆ ตามจำนวนหนี้ที่โจทก์คิดคำนวณขึ้นมาเองนั้น ย่อมมีเหตุที่จำเลยที่ 1 เข้าใจและเชื่อว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยถูกต้องแล้ว กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่คิดคำนวณไม่ถูกต้องไปนั้นโดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้เงินกู้จำนวน 915,469.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 600,555.14 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 599,749.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไป และให้ชำระเงิน 805.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 463 (ที่ถูก น.ส.3 ก. เลขที่ 2895 เลขที่ดิน 463) ตำบลนาดี อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองขายชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 บริษัทบริหารสินทรัพย์ เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2538 จำนวน 8,000 บาท วันที่ 2 ตุลาคม 2538 จำนวน 8,000 บาท วันที่ 14 ธันวาคม 2538 จำนวน 30,832.87 บาท วันที่ 4 มกราคม 2539 จำนวน 6,912.32 บาท วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2539 จำนวน 7,500 บาท วันที่ 7 มีนาคม 2539 จำนวน 7,027.11 บาท วันที่ 14 พฤษภาคม 2539 วันที่ 11 มิถุนายน 2539 วันที่ 4 กรกฎาคม 2539 วันที่ 26 สิงหาคม 2539 วันที่ 25 กันยายน 2539 วันที่ 25 ตุลาคม 2539 วันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 วันที่ 26 ธันวาคม 2539 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2540 และวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2540 รวม 10 ครั้งละ 7,500 บาท วันที่ 24 เมษายน 2540 จำนวน 15,000 บาท วันที่ 29 พฤษภาคม 2540 จำนวน 7,500 บาท วันที่ 24 กรกฎาคม 2540 จำนวน 7,500 บาท และวันที่ 8 ตุลาคม 2540 จำนวน 30,000 บาท รวมเป็นเงินที่ชำระทั้งสิ้น 203,272.30 บาท ไปหักชำระดอกเบี้ยก่อน หากมีเงินเหลือจึงหักชำระต้นเงินต่อไป และให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 805.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเบี้ยประกันอัคคีภัยไม่เป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทั้งหมดตามฟ้องนั้น เห็นว่า ตามสัญญากู้เงิน ข้อ 2 มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่กู้ให้แก่โจทก์ในอัตราสูงสุดตามประกาศของโจทก์ (ปัจจุบันเท่ากับอัตราร้อยละ 19 ต่อปี) และตามหนังสือยินยอมให้ทำประกันอัคคีภัยระบุว่า จำเลยที่ 1 ตกลงยินยอมชดใช้คืนเบี้ยประกันอัคคีภัยแก่โจทก์เต็มจำนวนพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศของโจทก์ที่กำหนดให้พึงเรียกเก็บได้ (ในปัจจุบันอัตราร้อยละ 19 ต่อปี) แต่อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญากู้เงินและหนังสือยินยอมให้ทำประกันอัคคีภัยดังกล่าวนั้นปรากฏตามประกาศของโจทก์ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะทำสัญญากู้เงินและหนังสือยินยอมว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยกรณีลูกค้าผิดนัดหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไข ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศเรียกเก็บได้ จึงเป็นการเรียกดอกเบี้ยโดยฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดอันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 (2) แม้ขณะนั้นโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 เพียงอัตราร้อยละ 14 ต่อปี มิได้คิดอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินและหนังสือยินยอมให้ทำประกันอัคคีภัยก็ตาม ข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้เงินและหนังสือยินยอมดังกล่าวก็ตกเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เงินและหนังสือยินยอมได้ แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้และเบี้ยประกันอัคคีภัยพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ดีสำหรับการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ได้ความตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2539 โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นเช่นนี้ ต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2539 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2539 หาใช่นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2538 ซึ่งโจทก์ยังไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดแต่อย่างใดไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยทั้งสองชำระหนี้ไปในมูลหนี้ที่ไม่ต้องชำระหรือไม่ต้องรับผิด จำเลยทั้งสองหามีสิทธิที่จะเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ประกอบกับประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ จึงย่อมจำเป็นต้องทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์การเรียกดอกเบี้ยเป็นอย่างดี ส่วนจำเลยทั้งสองเป็นเพียงผู้ประกอบอาชีพค้าขาย โดยสภาพและตามสำนวนไม่ปรากฏเหตุผลที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 จะทราบถึงหลักเกณฑ์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น ลำพังแต่การที่จำเลยที่ 1 นำเงินชำระหนี้แก่โจทก์เพราะตนเป็นหนี้แก่โจทก์แล้วโจทก์นำไปจัดการหักชำระหนี้ต่าง ๆ ตามจำนวนหนี้ที่โจทก์คิดคำนวณขึ้นมาเองนั้น ประกอบกับโจทก์เป็นสถาบันการเงินที่ประกอบการธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการซึ่งเป็นที่เชื่อถือของประชาชน ย่อมมีเหตุที่ทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจและเชื่อว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยถูกต้องแล้ว กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่คิดคำนวณไม่ถูกต้องไปนั้นโดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือเป็นการกระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ เพราะฉะนั้น เมื่อข้อสัญญาที่เกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะอันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำไปชำระต้นเงินทั้งหมด ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์มาแล้วนับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2538 จนถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2540 รวมเป็นเงิน 203,272.30 บาท ไปหักออกจากต้นเงินจำนวน 600,000 บาท เมื่อเหลือต้นเงินจำนวนเท่าใดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงินคงเหลือจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share