คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3033/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์นำน้ำมันดิบเข้ามาทางเรือ เรือเข้าเทียบท่าและสูบน้ำมันดิบผ่านท่อส่งเข้าสู่ถังเก็บภายในโรงกลั่นของโจทก์ โดยท่าเรือและถังเก็บดังกล่าวได้รับอนุมัติจากกรมศุลกากรจำเลยให้เป็นท่าเรือที่ขนถ่ายและเก็บรักษาน้ำมันดิบได้ หลังจากโจทก์สูบน้ำมันดิบเข้าสู่ถังเก็บแล้วโจทก์ได้ขอผ่อนผันการวางประกันอากรเพิ่มเพื่อให้ตรวจปล่อยสินค้าไปก่อน และได้มีการตรวจปล่อยสินค้าไป ในเดือนเดียวกับที่โจทก์นำเข้าอีก 2 ถึง 4 เดือนต่อมาโจทก์จึงชำระอากรขาเข้าเพิ่มตามจำนวนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมิน การที่โจทก์ชำระอากรขาเข้าเพิ่มจึงเป็นการชำระหลังนำของไปจากอารักขาของศุลกากรแล้วกรณีจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า แม้โจทก์มิได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจะเรียกร้องเงินอากรที่ชำระเพิ่มคืนก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ในการฟ้องคดีโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างเดือนมกราคม 2541 ถึงเดือนมิถุนายน 2541 โจทก์ได้นำเข้าวัตถุดิบน้ำมันรีดิว ครูด เพื่อใช้ในการผลิตเป็นน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน สินค้าดังกล่าวมีแหล่งกำเนิดในประเทศซาอุดีอาระเบีย เที่ยวที่ 1 นำเข้าเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2541จำนวน 79,955.440 เมตริกตัน ราคา เอฟ.โอ.บี. เมตริกตันละ 70.5942 ดอลลาร์สหรัฐเที่ยวที่ 2 นำเข้าเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2541 จำนวน 88,696.878 เมตริกตัน ราคา เอฟ.โอ.บี. เมตริกตันละ 64.3622 ดอลลาร์สหรัฐ เที่ยวที่ 3 นำเข้าเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม2541 จำนวน 100,384.163 เมตริกตัน ราคา เอฟ.โอ.บี. เมตริกตันละ 74.142 (ที่ถูก74.1429) ดอลลาร์สหรัฐ เที่ยวที่ 4 นำเข้าเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2541 จำนวน91,505.69 เมตริกตัน ราคา เอฟ.โอ.บี. เมตริกตันละ 62.4218 ดอลลาร์สหรัฐโจทก์ได้สำแดงเสียภาษีตามราคาที่โจทก์ซื้อมาอันเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดในขณะนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยรับชำระค่าภาษีตามที่โจทก์สำแดง แต่ไม่พอใจในราคา จึงสั่งให้โจทก์วางประกันค่าภาษีเพิ่ม โจทก์ใช้หนังสือของธนาคารวางเป็นประกันไว้ ต่อมาจำเลยได้ประเมินราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าเป็นราคาเมตริกตันละ81.14352 ดอลลาร์สหรัฐ และมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์ชำระอากรขาเข้าและเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามที่จำเลยประเมินเพิ่ม เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2541 จำนวน455,609 บาท วันที่ 29 พฤษภาคม 2541 จำนวน 669,207 บาท วันที่ 9 ตุลาคม 2541จำนวน 277,617 บาท และวันที่ 19 ตุลาคม 2541 จำนวน 689,399 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,091,832 บาท ราคาที่จำเลยประเมินเพิ่มเกินกว่าราคาซื้อขายอันแท้จริงในท้องตลาด การประเมินราคาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่จำเลยได้เก็บเพิ่มในแต่ละเที่ยวจนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยทั้งสิ้น 206,623 บาท รวมเป็นเงินอากรขาเข้าเงินเพิ่มอากรขาเข้าและดอกเบี้ยจำนวน 2,298,461 บาท ขอให้เพิกถอนการประเมินและให้จำเลยคืนเงินจำนวน 2,091,832 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินต้น 2,091,832 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิขอคืนเงินอากรขาเข้าจากจำเลยเพราะโจทก์มิได้โต้แย้งสงวนสิทธิในการขอคืนเงินอากรหรือแจ้งความไว้ต่อเจ้าพนักงานของจำเลยว่าจะใช้สิทธิเรียกร้องขอคืนเงินก่อนการตรวจปล่อยสินค้า โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มเลขที่ 2801 0011 0503 เลขที่ 2801 0031 0071 เลขที่ 2801 00411110 และเลขที่ 2801 0061 0648 ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 2,053,907 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 29 ตุลาคม 2542)จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์นำเข้าน้ำมัน รีดิว ครูด รวม 4 เที่ยว จาก Saudi Arabian Oil Companyประเทศซาอุดีอาระเบียตามใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบกำกับสินค้าและใบตราส่ง เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 5, 6, 10 แผ่นที่ 85, 86, 90 แผ่นที่ 111,112, 117 และแผ่นที่ 133, 134, 138 มีปริมาณที่ตรวจพบ 79,955.440 เมตริกตัน 88,696.878 เมตริกตัน 100,384.163 เมตริกตันและ 91,907.196 เมตริกตันตามลำดับ โจทก์ชำระอากรขาเข้าตามที่สำแดงและวางหนังสือธนาคารค้ำประกันไว้ ต่อมาจำเลยได้แจ้งการประเมินอากรขาเข้าเพิ่มเติมตามแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 29, 107, 128, 148 (ตรงกับเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 9, 62, 94, 137) โจทก์จึงชำระค่าอากรพร้อมเงินเพิ่มตามที่จำเลยประเมินเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2541 จำนวน 455,609 บาท วันที่ 29 พฤษภาคม2541 จำนวน 669,207 บาท วันที่ 9 ตุลาคม 2541 จำนวน 277,617 บาท และวันที่19 ตุลาคม 2541 จำนวน 689,399 บาท ตามใบเสร็จรับเงินค่าภาษีอากรเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 10, 63, 95 และ 138 โจทก์ไม่ได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยว่าจะใช้สิทธิเรียกร้องขอคืนเงินอากรในขณะผ่านพิธีการทางศุลกากรเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงกำหนดราคาที่ใช้ในการประเมินอากรตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 44/2540 เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 1 ถึง 3 ข้อ 1.2.1(2) โดยใช้ราคาร้อยละ 80 ของราคานำเข้าสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2540 คิดเป็นราคา เอฟ.โอ.บี. 81.14352 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมตริกตัน

จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่า โจทก์ได้ชำระค่าภาษีอากรหรือวางเงินไว้เป็นประกันก่อนนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากรแต่โจทก์มิได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบของว่าจะยื่นคำเรียกร้องขอคืนเงินอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอคืนเงินอากรจากจำเลยในประเด็นข้อนี้โจทก์มีพยานคือหม่อมหลวงสารศักดิ์ หัสดินทร เบิกความเป็นพยานว่าน้ำมันดิบที่โจทก์นำเข้านั้นขนส่งมาทางเรือ เรือเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือของบริษัทไทยออยล์จำกัด และสูบน้ำมันดิบผ่านท่อส่งเข้าสู่ถังเก็บภายในบริเวณโรงกลั่นของโจทก์ท่าเรือและถังเก็บดังกล่าวได้รับอนุมัติจากจำเลยให้เป็นท่าเรือที่ขนถ่ายและเก็บรักษาน้ำมันดิบได้ โดยมีพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยควบคุมดูแลการสูบถ่าย หลังจากโจทก์สูบน้ำมันดิบเข้าสู่ถังเก็บของโจทก์แล้ว โจทก์ได้ขอผ่อนผันการวางประกันอากรเพิ่มเพื่อให้ตรวจปล่อยสินค้าไปก่อน และปรากฏตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 2 ฉบับว่าได้มีการตรวจปล่อยสินค้าไปในเดือนเดียวกับที่โจทก์นำเข้า อีก 2 ถึง 4 เดือนต่อมาโจทก์จึงชำระอากรขาเข้าเพิ่มตามจำนวนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินเพิ่ม จำเลยมิได้นำสืบหักล้างในข้อนี้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ การที่โจทก์ชำระอากรขาเข้าเพิ่มจึงเป็นการชำระหลังนำของไปจากอารักขาของศุลกากรแล้วกรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แม้โจทก์มิได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจะเรียกร้องเงินอากรที่ชำระเพิ่มคืนก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ในการฟ้องคดี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share