แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยและผู้ร้องสอดกับบริวารออกจากที่ดินและตึกพิพาท ให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะ ออกไปจากที่ดินและตึกพิพาท กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืนผู้ร้องสอดได้รับทราบคำพิพากษา ของ ศาลฎีกาและศาลชั้นต้นได้ออกคำบังคับให้ผู้ร้องสอด ปฏิบัติ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วด้วย ต่อมาเมื่อพ้นกำหนดตามคำบังคับ โจทก์ยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีอ้างว่าผู้ร้องสอดยังไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271หากผู้ร้องสอดได้ออกไปจากตึกพิพาทก่อนนี้แล้วก็ไม่ต้องบังคับในส่วนนี้คงบังคับในส่วนอื่นตามคำพิพากษาเช่นค่าเสียหายหรือค่าฤชาธรรมเนียม ต่อไปเพราะการที่ผู้ร้องสอดออกไปจากตึกพิพาทไม่อาจจะลบล้างค่าเสียหายที่ยังค้างชำระก่อนนี้ได้ผู้ร้องสอดออกจากที่พิพาทหรือยังเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ยังไม่ยอมรับ และแถลงในคำขอว่าผู้ร้องสอดไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ จึงต้องออกหมายบังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าว
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6261 พร้อมตึกเลขที่ 66 และสิ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าวโดยซื้อมาจากการขายทอดตลาด จำเลยและบริวารอาศัยอยู่ในที่ดินและตึกดังกล่าว โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยกับบริวารอาศัยอยู่ในที่ดินและตึกดังกล่าวต่อไป ได้บอกกล่าวขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ และให้ชำระค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า จำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างของผู้มีชื่อไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
นางศรไกร รณรงค์ ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าเป็นจำเลยร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและผู้ร้องสอดออกจากที่ดินและตึกพิพาท ให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกจากที่ดินและตึกพิพาท คดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน
โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยและผู้ร้องสอดทราบคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาแล้ว แต่จำเลยมรณะ ส่วนผู้ร้องสอดไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ขอให้ออกหมายบังคับ
ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำบังคับให้ผู้ร้องสอดชำระหนี้ หมายบังคับคดีจึงออกโดยฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 และผู้ร้องสอดได้ออกจากทรัพย์พิพาทแล้วจึงไม่มีเหตุออกหมายบังคับคดีขับไล่ผู้ร้องสอดซ้ำอีก ขอให้ยกเลิกหมายบังคับคดีและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยร่วม ทั้งร้องสอดอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องสอดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องสอดว่าการออกหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้นชอบหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยและผู้ร้องสอดกับบริวารออกจากที่ดินและตึกพิพาท ให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะไปจากที่ดินและตึกพิพาท กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน ผู้ร้องสอดได้รับทราบคำพิพากษาของศาลฎีกาเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2526 ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลในวันดังกล่าวศาลชั้นต้นได้ออกคำบังคับให้ผู้ร้องสอดปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาใน 30 วันด้วย ต่อมาวันที่21 สิงหาคม 2529 โจทก์ยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีแต่จำเลยร่วม (ผู้ร้องสอด) อ้างว่าจำเลยร่วม (ผู้ร้องสอด)ยังไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ดังนี้การออกหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 หากจำเลยร่วม(ผู้ร้องสอด) ได้ออกไปจากตึกพิพาทก่อนนี้แล้ว เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ก็ไม่ต้องบังคับในส่วนนี้ คงบังคับในส่วนอื่นตามคำพิพากษาเช่นค่าเสียหายหรือค่าฤชาธรรมเนียมต่อไปเพราะการที่จำเลยร่วมออกไปจากตึกพิพาทไม่อาจจะลบล้างค่าเสียหายที่ยังค้างชำระก่อนนี้ได้ จำเลยร่วมออกจากที่พิพาทหรือยังเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ยังไม่ยอมรับ และแถลงในคำขอว่าจำเลยร่วมไม่ปฏิบัติตามคำบังคับจึงต้องออกหมายบังคับคดีตามคำพิพากษา ส่วนฎีกาของผู้ร้องสอดที่ว่าโจทก์ไม่ดำเนินการอะไรต่อมาเป็นเวลา 5 ปี เป็นการละทิ้งคดี ควรจำหน่ายคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 ถึงมาตรา 176นั้น เห็นว่า บทกฎหมายที่ผู้ร้องสอดอ้างเป็นเรื่องของการทิ้งฟ้องแต่การบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว และที่ผู้ร้องสอดฎีกาว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ผู้พิพากษาลงชื่อเพียง 2 คน ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ก็มีหนังสือรับรองของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ท้ายคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่านายเพ็ง เพ็งนิติ ได้ร่วมปรึกษาและมีความเห็นพ้องกันกับได้ลงลายมือชื่อไว้ในต้นร่างคำพิพากษาแล้ว แต่นายเพ็ง เพ็งนิติได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่นเสียก่อนที่จะลงลายมือชื่อในคำพิพากษาฉบับนี้ จึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมแล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว”
พิพากษายืน