คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3026/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ไม่ใช้บังคับ ซึ่งประกาศ ณ วันที่12 กันยายน 2534 ข้อ 2 ระบุว่า ให้รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เป็นกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวไม่ใช้บังคับทำให้ตำแหน่งงานของโจทก์ไม่อยู่ภายใต้บังคับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 อีกต่อไป ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ที่ออกตามความในมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ได้ระบุในข้อ 45 และข้อ 47 มีความหมายว่าเงินค่าชดเชยที่รัฐวิสาหกิจใดจะพึงจ่ายให้นั้นได้กำหนดเจาะจงจ่ายให้เฉพาะแก่พนักงานของรัฐวิสาหกิจนั้นเท่านั้น โดยข้อ 3 ได้ให้คำนิยามคำว่า พนักงานหมายความว่า พนักงานตาม พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ซึ่งในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.นี้ได้ให้คำนิยามคำว่า พนักงาน หมายความว่า พนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่หมายความรวมถึงฝ่ายบริหาร และคำว่า ฝ่ายบริหารหมายความว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ระดับหัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไป โดยให้หมายความรวมถึงผู้อำนวยการด้วย เมื่อขณะที่โจทก์พ้นจากการทำงานให้แก่จำเลยในปี 2537 ขณะ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ใช้บังคับเพราะเหตุเกษียณอายุ โจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ถือได้ว่าโจทก์มีฐานะเป็นฝ่ายบริหารไม่ใช่พนักงานของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยตามข้อ 45 และข้อ 47แห่งระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าว
การที่โจทก์เรียกร้องสิทธิประโยชน์ในเงินค่าชดเชยโจทก์จะถือสิทธิความเป็นพนักงานตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 หาได้ไม่ เพราะบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉบับนี้ใช้สำหรับพิจารณาว่าคุณสมบัติขั้นมาตรฐานและลักษณะต้องห้ามของพนักงานรัฐวิสาหกิจมีอย่างไรเท่านั้น

Share