คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3020/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินของจำเลยจากคดีอื่นมาจำนวนหนึ่งในเงินจำนวนนี้ได้จ่ายให้โจทก์เพียงบางส่วน เฉพาะส่วนที่จ่ายให้โจทก์นี้ต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีร้อยละ 3 ครึ่งตามตาราง 5 ข้อ 2 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
กรณีตามตาราง 5 ข้อ 2 ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการอายัดสิทธิเรียกร้องให้บุคคลภายนอกส่งมอบสิ่งของ และเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทำการจำหน่ายสิ่งของนั้นให้เป็นตัวเงิน แม้การอายัดเงินแล้วมีการจ่ายเงินให้ผู้ขออายัด โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ต้องทำการจำหน่ายหรือทำอะไรกับเงินที่อายัดนั้นก็ตาม แต่การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินที่อายัดให้ผู้ขออายัด เป็นการปฏิบัติตามความหมายของการอายัดแล้ว
กรณีตามตาราง 5 ข้อ 4 หมายถึง เมื่อมีการยึดหรืออายัดเงินหรืออายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย การขายหรือจำหน่ายรวมถึงการแลกเปลี่ยนหรือเอาออกหรือยังไม่มีการจ่ายเงินที่อายัดให้ผู้ขออายัด จึงเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีร้อยละ 1

ย่อยาว

มูลกรณีสืบเนื่องมาจากจำเลยตกลงประนีประนอมยอมความกับโจทก์ และศาลฎีกาได้พิพากษาตามยอมให้ ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีตามที่โจทก์ขออายัดเงินของจำเลยจากคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๑๙๘/๒๕๒๓ เป็นเงิน ๔,๒๔๕,๕๖๘.๗๕ บาท หลังจากศาลฎีกาพิพากษาตามยอมแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงได้จ่ายเงินให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเงิน ๑,๙๘๐,๐๐๐ บาท เหลือจ่ายคืนจำเลย ๒,๑๒๕,๕๓๒.๑๙ บาทแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีให้คิดค่าธรรมเนียมในการอายัดเงินในอัตราร้อยละ ๓ ครึ่งของเงินจำนวน ๓,๙๙๙,๔๗๓.๐๖ บาท ซึ่งเป็นจำนวนหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมตามหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้นจำเลยยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีคิดค่าธรรมเนียมในการอายัดเงินตามตาราง ๕ ข้อ ๒ ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องติดตามตาราง ๕ ข้อ ๔ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีคิดค่าธรรมเนียมชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คิดค่าธรรมเนียมในการอายัดเงินในอัตราร้อยละ ๓ ครึ่งเฉพาะของเงินที่จ่ายให้แก่โจทก์ ส่วนเงินที่เหลือจ่ายคืนจำเลยให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ ๑
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าการคิดค่าธรรมเนียมในการอายัดเงินเฉพาะส่วนที่จ่ายให้โจทก์จำนวน ๑,๙๘๐,๐๐๐ บาท ควรต้องคิดร้อยละ ๑ ตามตาราง ๕ ข้อ ๔ หรือร้อยละ ๓ ครึ่งตามตาราง ๕ ข้อ ๒ ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการอายัดเงินของจำเลยจากคดีหมายเลขแดงที่ ๔๑๙๘/๒๕๒๓ เป็นเงิน ๔,๒๔๕,๕๖๘.๗๕ บาท เมื่อคิดหักค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาในคดีดังกล่าวและค่าใช้จ่ายแล้ว คงเหลือเป็นเงินส่วนที่อายัดจริง ๆ ๓,๙๙๙,๔๗๓.๐๖ บาท ในเงินจำนวนนี้คงจ่ายให้โจทก์เพียง ๑,๙๘๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเฉพาะเงินส่วนที่จ่ายให้โจทก์นี้ เห็นได้ชัดว่ากรณีต้องด้วยตาราง ๕ ข้อ ๒ ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ให้คิดค่าธรรมเนียม เมื่อมีการจ่ายเงินที่ยึดหรืออายัดแก่เจ้าหนี้ ร้อยละ ๓ ครึ่งของจำนวนเงินที่ยึดหรืออายัด กรณีตามตาราง ๕ ข้อ ๒ นี้ไม่มีทางจะแปลไปได้ว่าหมายถึงเฉพาะการอายัดสิทธิเรียกร้องให้บุคคลภายนอกส่งมอบสิ่งของ และเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทำการจำหน่ายสิ่งของนั้นให้เป็นตัวเงินดังจำเลยฎีกา แม้การอายัดเงินแล้วมีการจ่ายเงินให้โจทก์ผู้ขออายัด เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ต้องทำการจำหน่ายหรือทำอะไรกับเงินที่อายัดนั้นอีกดังจำเลยฎีกาก็ตาม แต่การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินที่อายัดให้โจทก์ ก็เป็นการปฏิบัติตามความหมายของการอายัดเงินโดยครบถ้วนแล้วตาราง ๕ ข้อ ๒ ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงให้คิดค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีร้อยละ ๓ ครึ่ง ส่วนค่าธรรมเนียมร้อยละ ๑ ตามตาราง ๕ ข้อ ๔ ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้นหมายถึงเมื่อมีการยึดหรืออายัดเงินหรืออายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย คำว่าไม่มีการขายหรือจำหน่ายย่อมมีความหมายในตัวเองรวมถึงการแลกเปลี่ยนหรือเอาออกเช่นจำหน่ายจากบัญชี ซึ่งเป็นคำที่แผลงมาจากคำว่าจ่ายด้วย ในกรณีเช่นคดีนี้ก็หมายถึงว่า ยังไม่มีการจ่ายเงินที่อายัดให้โจทก์นั่นเอง จึงจะคิดค่าธรรมเนียมร้อยละ ๑ ตามตาราง ๕ ข้อ ๔ ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กรณีของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยตาราง ๕ ข้อ ๔ ดังจำเลยฎีกา
พิพากษายืน

Share