คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3020/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้มีอำนาจและหน้าที่จัดการศพคือผู้ที่ระบุไว้ใน มาตรา 1649โจทก์ระบุในฟ้องไม่พอแสดงว่าโจทก์ได้รับมรดกผู้ตายมากที่สุด แม้จำเลยทำศพโดยไม่มีอำนาจก็ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “การกระทำของจำเลยจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ต่อเมื่อโจทก์มีอำนาจหน้าที่เป็นผู้จัดการทำศพผู้ตาย และจำเลยเข้าไปจัดการทำศพผู้ตายโดยไม่มีสิทธิ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420การที่ผู้ตายพูดฝากผีฝากไข้ให้โจทก์เป็นผู้จัดการทำศพนั้นเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในการต่าง ๆ อย่างหนึ่ง ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1646 บัญญัติให้ทำเป็นพินัยกรรมมิฉะนั้นก็ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายเมื่อผู้ตายเพียงแต่สั่งด้วยวาจาให้โจทก์เป็นผู้จัดการทำศพ คำสั่งนั้นก็ไม่มีผลบังคับ ปัญหาเรื่องใครจะเป็นผู้จัดการทำศพนั้น ในกรณีเช่นนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649 วรรคท้าย บัญญัติให้บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมเป็นจำนวนมากที่สุด หรือทายาทโดยธรรมที่ได้รับทรัพย์มรดกเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมเป็นจำนวนมากที่สุด ส่วนเรื่องทายาทโดยธรรม โจทก์บรรยายฟ้องว่า ผู้ตายเป็นลุงโจทก์เป็นหลาน ผู้ตายเป็นโสด ไม่มีบุตรภรรยา คำฟ้องดังกล่าวแสดงว่าโจทก์เป็นผู้รับมรดกแทนที่ของทายาทโดยธรรมในลำดับ (3) คือเป็นบุตรของพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย หรือในลำดับ (4) คือเป็นบุตรของพี่น้องร่วมบิดา หรือร่วมมารดาเดียวกันกับผู้ตาย ซึ่งโจทก์จะมีสิทธิรับมรดกแทนที่ก็ต่อเมื่อผู้ตายไม่มีทายาทโดยธรรมในลำดับ (1) และ (2) เท่านั้น ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 และ 1630 โจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า ผู้ตายไม่มีทายาทโดยธรรมในลำดับ (2) แต่มิได้บรรยายฟ้องว่าทายาทโดยธรรมในลำดับ (2) คือบิดามารดาผู้ตายยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ซึ่งถ้าบิดาหรือมารดาผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ โจทก์ก็ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายไม่มีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพผู้ตาย แม้ทายาทโดยธรรมในลำดับ (3) หรือ (4) จะมีอยู่กี่คน ใครเป็นทายาทโดยธรรมที่ได้รับทรัพย์มรดกเป็นจำนวนมากที่สุด บิดาหรือมารดาโจทก์ซึ่งโจทก์เป็นผู้รับมรดกแทนที่จะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องไว้ ฟ้องโจทก์จึงไม่แสดงว่าโจทก์เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการทำศพผู้ตาย แม้จำเลยทั้งสามจะทำศพผู้ตายโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ ก็ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์”

พิพากษายืน

Share