คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3019/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อบังคับเรื่องเงินบำเหน็จ ค่าชดเชย และเงินทดแทนของนายจ้างกำหนดให้จ่ายเงินบำเหน็จและค่าชดเชยแก่ลูกจ้างตามจำนวนปีทำงานของลูกจ้าง ประกอบกับจำนวนค่าชดเชยที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามข้อบังคับดังกล่าวก็เป็นไปตามอัตราค่าชดเชยในข้อ 46 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ทั้งนายจ้างได้จ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จให้แก่ลูกจ้างสูงกว่าอัตราค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานด้วย ข้อบังคับของนายจ้างดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ ถือว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะเหตุเกษียณอายุ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายให้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 48,660 บาท โจทก์ที่ 2จำนวน 27,570 บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสองได้รับค่าชดเชยและเงินบำเหน็จไปครบถ้วนแล้ว โดยโจทก์ที่ 1 ได้รับค่าชดเชย52,860 บาท และเงินบำเหน็จ 226,417 บาท ส่วนโจทก์ที่ 2 ได้รับค่าชดเชย 27,570 บาท และเงินบำเหน็จ 37,964 บาท จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามฟ้องอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ปัญหาแรกว่า เงินจำนวนที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองรับไปตามเอกสารหมาย จ.ล.2 เป็นเพียงจำนวนเงินที่จำเลยกำหนดให้ หาได้มีค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 รวมอยู่ด้วยไม่ เพราะถ้าจำเลยนำค่าชดเชยมารวมจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองจริง จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1 มากกว่า 279,277 บาทและจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 2 มากกว่า 65,264 บาท เห็นว่าตามระเบียบและข้อบังคับสำหรับลูกจ้างของจำเลยเอกสารหมาย จ.ล.1หมวดที่ 11 ข้อ 29.2 ระบุว่า “ลูกจ้างซึ่งมีอายุงานครบ10 เศษ 1 ส่วน 2 ปี ขึ้นไป ให้คิดบำเหน็จและค่าชดเชยตามข้อบังคับเรื่องเงินบำเหน็จค่าชดเชย และเงินทดแทน ข้อ 1(2) ลงวันที่1 พฤศจิกายน 2526″ คือตามเอกสารหมาย จ.ล.2 ซึ่งข้อ 1(2) ระบุว่า”อัตราค่าชดเชยสำหรับลูกจ้างที่ให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากงานโดยมิได้กระทำผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และเงินบำเหน็จสำหรับลูกจ้างที่ครบเกษียณอายุตามข้อ 5 ของระเบียบและข้อบังคับสำหรับพนักงาน คนงานและกรรมกร ซึ่งบริษัทประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508ตามที่ปรากฏข้างล่างนี้ กำหนดขึ้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ฯลฯ มีรายละเอียดดังนี้ จำนวนปีทำงาน ฯลฯ ตั้งแต่ 20 เศษ 1 ส่วน 2 ปีขึ้นไป แต่ไม่ครบ21 เศษ 1 ส่วน 2 ปี อัตราค่าชดเชยและเงินบำเหน็จ 22 เศษ 1 ส่วน 10ปี เท่าของเงินเดือน สำหรับพนักงานและคนงานที่ทำงานครบ21 เศษ 1 ส่วน 2 ปี ขึ้นไป บริษัทจะเพิ่มเงินบำเหน็จให้อีกทุกปีปีละ 1 เศษ 6 ส่วน 10 ปี ของเงินเดือน” โจทก์ที่ 1 ทำงานรวมทั้งสิ้น 27 ปี 4 เดือน เมื่อคิดคำนวณตามระเบียบและข้อบังคับสำหรับลูกจ้าง ของจำเลยเอกสารหมาย จ.ล.1 และข้อบังคับเรื่องเงินบำเหน็จ ค่าชดเชย และเงินทดแทน เอกสารหมาย จ.ล.2 แล้วจำนวนปีทำงานของโจทก์ที่ 1 ตั้งแต่ 20 เศษ 1 ส่วน 2 ขึ้นไปแต่ไม่ครบ 21 เศษ 1 ส่วน 2 ปี อัตราค่าชดเชยและเงินบำเหน็จ22 เศษ 1 ส่วน 10 เท่าของเงินเดือน เงินเดือนของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเมื่อคำนวณรวมค่าตำแหน่งและค่าครองชีพด้วยเป็นเงิน 8,810 บาททำงาน 21 ปี เท่ากับ 22.1 x 8,810 เป็นเงิน 194,701 บาท ที่เหลืออีก 6 ปี เพิ่มบำเหน็จให้อีกปีละ 1 เศษ 6 ส่วน 10 ของเงินเดือนเท่ากับ 1.6 x 8,800 x 6 เป็นเงิน 84,576 บาท เมื่อนำจำนวนเงินทั้งสองยอดมารวมกันเป็นเงิน 279,277 บาท ตรงตามจำนวนเงินที่จำเลยได้จ่ายให้โจทก์ที่ 1 รับไปตามบัญชีเงินบำเหน็จและค่าชดเชยเอกสารหมาย จ.ล.3 ส่วนของโจทก์ที่ 2 เมื่อคิดคำนวณตามระเบียบและข้อบังคับสำหรับลูกจ้างของจำเลย เอกสารหมาย จ.ล.1 และข้อบังคับเรื่องเงินบำเหน็จ ค่าชดเชย และเงินทดแทน เอกสารหมายจ.ล.2 แล้ว ก็ตรงตามจำนวนเงินที่จำเลยได้จ่ายให้โจทก์ที่ 2รับไปตามบัญชีเงินบำเหน็จและค่าชดเชย เอกสารหมาย จ.ล.3 เช่นกันหาใช่จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองมากไปกว่านี้ไม่ ประกอบกับจำนวนค่าชดเชยที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทั้งสองรายละเอียดตามบัญชีเงินบำเหน็จและค่าชดเชยเอกสารหมาย จ.ล.3 นั้น ก็เป็นไปตามอัตราค่าชดเชยตามข้อ 46 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ทั้งจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ทั้งสองสูงกว่าอัตราค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ด้วย ข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวเกี่ยวกับกรณีของโจทก์ทั้งสองนี้จึงมีผลใช้บังคับได้ ถือได้ว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแล้วโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยตามฟ้องจากจำเลยอีก
พิพากษายืน

Share