คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3018/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้รวม 3 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 50,000 บาท40,000 บาท และ 110,000 บาท ตามลำดับ รวมแล้วเป็นเงินต้น200,000 บาท จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์เพียง 100,000 บาท และจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินกู้ครบตามสัญญาเพราะโจทก์หักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า 6,000 บาทเป็นคำให้การปฏิเสธที่ไม่ชัดแจ้ง จึงไม่มีข้อต่อสู้ที่จำเลยที่ 3 จะนำสืบว่าหนี้ไม่สมบูรณ์ การที่จำเลยที่ 3นำสืบว่าได้รับเงินจริงจากโจทก์เพียง 94,000 บาทจึงนำสืบไม่ได้ คำฟ้องของโจทก์ระบุชัดว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ตามสัญญากู้ทั้ง 3 ฉบับ และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญากู้แต่ละฉบับในฐานะผู้กู้ จำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะนำสืบว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันไม่ได้เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ศาลจะฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3เป็นผู้ค้ำประกันไม่ได้เพราะเป็นการฟังข้อเท็จจริงที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และแม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้จะต้องห้ามมิให้ฎีกา แต่เมื่อมีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยนำสืบว่าได้รับเงินจากโจทก์เพียงบางส่วน และจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 หรือไม่ ศาลฎีกาก็มีอำนาจฟังข้อเท็จจริงที่ชอบด้วยกฎหมายเสียใหม่โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2536 จำเลยทั้งสามร่วมกันทำสัญญากู้เงินโจทก์ 3 ฉบับ ฉบับแรกจำนวน 50,000 บาทฉบับที่ 2 จำนวน 40,000 บาท ฉบับที่ 3 จำนวน 110,000 บาท กำหนดชำระคืนภายในวันที่ 15, 18 และ 21 ธันวาคม 2536 ตามลำดับทั้งสามฉบับเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อถึงกำหนดจำเลยทั้งสามไม่เคยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 15,583.32 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสามไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 215,583.32 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปีของต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ 100,000 บาทโดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์สั่งจ่ายเช็ค3 ฉบับ จำนวนเงิน 200,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 ไปเบิกเงินแล้วนำมามอบให้แก่โจทก์ทั้งหมด จากนั้นโจทก์ส่งมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เพียง 94,000 บาท โดยหักดอกเบี้ยไว้ก่อน 6,000 บาทสัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องจึงไม่ตรงกับมูลหนี้ที่เป็นจริงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน94,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 16 กันยายน 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระแทน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระหนี้เงินกู้ อ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกู้ยืมเงินโจทก์ไปตามสัญญากู้ 3 ฉบับ ท้ายฟ้อง รวมเป็นต้นเงิน 200,000 บาทกับดอกเบี้ยที่ค้างชำระอีก 15,583.32 บาท จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การคงมีจำเลยที่ 3 ผู้เดียวที่ยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่าจำเลยที่ 1กู้เงินโจทก์ไปเพียง 100,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันและโจทก์มอบเงินให้จำเลยที่ 1 ไปเพียง 94,000 บาทศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไปเพียง 94,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันโจทก์ฎีกาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แต่ศาลฎีกาพิพากษายืนตามที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาข้อเท็จจริงเพราะเป็นคดีมีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
คงมีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยนำสืบว่าได้รับเงินจากโจทก์เพียง 94,000 บาท ประการหนึ่งและการที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 อีกประการหนึ่งเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้รวม 3 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 50,000 บาท 40,000 บาท และ 110,000 บาท ตามลำดับ รวมแล้วเป็นเงินต้น 200,000 บาท การที่จำเลยที่ 3 ให้การว่าความจริงจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์เพียง 100,000 บาท และจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินกู้ครบตามสัญญาเพราะโจทก์หักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า 6,000 บาท นั้น เป็นคำให้การปฏิเสธที่ไม่ชัดแจ้ง จึงไม่มีข้อต่อสู้ที่จะนำสืบว่าหนี้ไม่สมบูรณ์ ในเมื่อจำเลยที่ 3 ให้การยอมรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้เงินจริง ทั้งตามสัญญากู้ทั้ง 3 ฉบับ ที่โจทก์อ้างมาก็ระบุว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินไว้ครบถ้วนตามสัญญากู้แต่ละฉบับแล้วในวันทำสัญญา การที่จำเลยนำสืบว่าได้รับเงินจริงจากโจทก์เพียง 94,000 บาท จึงนำสืบไม่ได้ส่วนประเด็นที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ระบุชัดว่าจำเลยที่ 2ที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กู้เงินตามสัญญากู้ทั้ง 3 ฉบับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญากู้แต่ละฉบับในฐานะผู้กู้ ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็มิได้ให้การปฏิเสธ จำเลยจึงจะนำสืบว่าแท้จริงแล้วจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันไม่ได้เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) เช่นเดียวกันดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงมาว่าจำเลยที่ 1ได้รับเงินจากโจทก์ไปเพียง 94,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3เป็นผู้ค้ำประกัน จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงที่ฝ่าฝืนกฎหมายแม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้จะต้องห้ามมิให้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจฟังข้อเท็จจริงที่ชอบด้วยกฎหมายเสียใหม่ได้โดยมิจำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นอีกและศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์ในเรื่องนี้แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกู้เงินไปจากโจทก์และได้รับเงินจากโจทก์ครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญากู้ รวมแล้วเป็นเงิน 200,000 บาท แต่ยังมิได้ชำระคืน รวมทั้งค้างดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวนับจากวันกู้ถึงวันฟ้องอีกเป็นเงิน 15,583.32บาท รวมเป็นเงินที่ค้างชำระ 215,583.32 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดในฐานะผู้กู้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน215,583.32 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share