คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3016/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 ข้อ 15(1)(3) ที่กำหนดห้ามมิให้ผู้ควบคุมยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งน้ำมันเบนซินหรือน้ำมันดีเซลส่งแก่ผู้จำหน่ายน้ำมันหรือผู้ซื้อน้ำมัน ทำการสูบถ่ายน้ำมันเบนซินหรือดีเซลระหว่างทางนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว ต้องถือว่าประชาชนรวมทั้งจำเลยได้ทราบคำสั่งฉบับดังกล่าวแล้ว การที่จำเลยกระทำการฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว ย่อมเป็นความผิดตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. 2516 มาตรา 8

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2524 เวลากลางวันจำเลยทั้งสามได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
ก. จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ร่วมกันลักทรัพย์น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 1,355 ลิตร ราคา 10,013.44 บาท ของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ผู้เสียหาย
ข. จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันลักทรัพย์น้ำมันเบนซินชนิดพิเศษ 30 ลิตร น้ำมันเบนซินธรรมดา 50 ลิตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 17.25 ลิตร รวมราคาทรัพย์ทั้งสิ้น 1,016.97 บาทของบริษัทซัมมิทออยล์ จำกัด ผู้เสียหาย
ค. อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3, 8 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 1/2522 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่30 มีนาคม 2522 ข้อ 15 และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 6/2522ลงวันที่ 2 เมษายน 2522 ข้อ 9 กำหนดห้ามมิให้ผู้ควบคุมยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งน้ำมันเบนซิน หรือน้ำมันดีเซลไปส่งแก่ผู้จำหน่ายน้ำมัน กระทำการสูบน้ำมันเบนซินหรือน้ำมันดีเซลระหว่างทางและห้ามนำหรือส่งผิดไปจากสถานที่ที่ระบุไว้ในใบสั่งจ่ายน้ำมันคำสั่งดังกล่าวนายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบ และได้ออกประกาศคำสั่งดังกล่าวให้ประชาชนรวมทั้งจำเลยทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว
ตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ควบคุมยานพาหนะที่ใช้ขนส่งน้ำมันดีเซล โดยเป็นผู้ขับรถบรรทุกน้ำมันคันหมายเลขทะเบียน 70-2496 กรุงเทพมหานคร ของห้างหุ้นส่วนจำกัดทอร์เทรดดิ้งทรานสปอร์ต บรรทุกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว นำน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไปส่งให้แก่สถาบันบริการน้ำมันขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ อู่ตลาดประชาธิปัตย์ รังสิต เขต 1ที่จังหวัดปทุมธานี ผู้จำหน่ายน้ำมันผู้มีชื่ออยู่ในใบสั่งจ่ายน้ำมัน ได้กระทำการสูบน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจำนวนดังกล่าวในข้อ ก.ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของน้ำมันที่จำเลยที่ 1 บรรทุกมาในรถบรรทุกน้ำมันคันหมายเลขทะเบียน 70-2496 กรุงเทพมหานคร ลงระหว่างทางที่สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงบริษัทน้ำมันเชื้อเพลิงกรุงเทพมหานครจำกัด ซึ่งเป็นการนำส่งผิดไปจากสถานที่ที่ระบุไว้ในใบสั่งจ่ายน้ำมันดังกล่าว ทั้งนี้การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำโดยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับดังกล่าวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
และตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ควบคุมยานพาหนะที่ใช้ขนส่งน้ำมันเบนซินและดีเซล โดยเป็นผู้ขับรถบรรทุกน้ำมันคันหมายเลขทะเบียน 70-3163 กรุงเทพมหานคร ของห้างหุ้นส่วนจำกัดมิตรมักกะสันบริการ บรรทุกน้ำมันเบนซินชนิดพิเศษ น้ำมันเบนซินธรรมดา และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว นำน้ำมันทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวไปส่งให้แก่สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงของห้างหุ้นส่วนจำกัดจินต์ลดาเซอร์วิส ผู้จำหน่ายน้ำมันผู้มีชื่อในใบสั่งจ่ายน้ำมันที่จังหวัดนนทบุรี ได้กระทำการสูบถ่ายน้ำมันเบนซินชนิดพิเศษน้ำมันเบนซินธรรมดา และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วแต่ละชนิดตามจำนวนดังกล่าวในข้อ ข. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของน้ำมันที่จำเลยที่ 2บรรทุกมาในรถบรรทุกน้ำมันคันหมายเลขทะเบียน 70-3163 กรุงเทพมหานครลงระหว่างทางที่สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงบริษัทน้ำมันเชื้อเพลิงกรุงเทพ จำกัด ซึ่งเป็นการนำส่งผิดไปจากสถานที่ระบุไว้ในใบสั่งจ่ายน้ำมัน ทั้งนี้ การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการทำโดยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 91, 83พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525มาตรา 11 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 คำสั่งนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 1/2522 ลงวันที่30 มีนาคม 2522 ข้อ 15 คำสั่งนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 6/2522ลงวันที่ 2 เมษายน 2522 ข้อ 9 พระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 มาตรา 3, 8พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2520มาตรา 3 และให้ริบซีลและสายยางของกลาง ส่วนของกลางที่เหลือคืนเจ้าของ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดฐานลักทรัพย์ลงโทษจำคุกคนละ 3 ปี ความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ลงโทษจำคุกคนละ 3 ปี เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2คนละ 6 ปี จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 จำนวน 2 กระทงความผิด จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก6 ปี ซีลและสายยางของกลางให้ริบ ของกลางอื่นคืนเจ้าของ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ แต่ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และจำเลยที่ 2ที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 วรรคสอง (ที่ถูกมาตรา 335(7)) วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 83 ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตามฟ้องข้อ ข. จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน คงจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 3 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในข้อหาเป็นผู้ควบคุมยานพาหนะที่ใช้ขนส่งน้ำมันทำการสูบถ่ายน้ำมันระหว่างทาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3ได้ร่วมกันกระทำผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้องข้อ ก. จำเลยที่ 2 ที่ 3ได้ร่วมกันกระทำผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง ข้อ ข. ปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกามีว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 กระทำผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงตามฟ้องหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 1/2532 ลงวันที่ 30มีนาคม 2522 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. 2516 ข้อ 15(1)(3) ที่กำหนดห้ามมิให้ผู้ควบคุมยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งน้ำมันเบนซินหรือน้ำมันดีเซลไปส่งแก่ผู้จำหน่ายน้ำมันหรือผู้ซื้อน้ำมันทำการสูบถ่ายน้ำมันเบนซินหรือน้ำมันดีเซลระหว่างทาง เว้นแต่กรณีจำเป็นนำหรือส่งผิดไปจากสถานที่ที่ระบุไว้ในใบสั่งจ่ายน้ำมัน ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่2 เมษายน 2522 ดังนั้นจึงต้องถือว่าประชาชนรวมทั้งจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ได้ทราบคำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับดังกล่าวแล้ว การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ทำการสูบถ่ายน้ำมันตามฟ้องระหว่างทางนำหรือส่งผิดไปจากสถานที่ที่ระบุไว้ในใบสั่งจ่ายน้ำมัน จึงเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นความผิดตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516มาตรา 8 ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ลงโทษจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในข้อหาความผิดฐานนี้โดยฟังว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ทราบคำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. 2516 มาตรา 3, 8 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2520 มาตรา 3 คำสั่งนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 1/2522ลงวันที่ 30 มีนาคม 2522 ข้อ 15 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 คนละ 1 ปี 6 เดือน เมื่อรวมกับโจทก์จำคุกของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์วางไว้ 3 ปี และ 1 ปี 6 เดือนตามลำดับแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน และจำเลยที่ 2มีกำหนด 3 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share