คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3015/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 แต่งทนายความให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใช้สิทธิในการฎีกาแทนได้ การที่ทนายความติดต่อกับจำเลยที่ 2ไม่ได้เพราะจำเลยที่ 2 เดินทางไปค้าขายและไปล้มป่วยที่ต่างจังหวัดก็เป็นความผิดพลาดบกพร่องของจำเลยที่ 2 กับทนายความเอง ถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษอันศาลจะพึงขยายระยะเวลาการยื่นฎีกาให้จำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าจ้างซ่อมรถยนต์แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน67,809.80 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน63,821 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษายืน ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เมื่อวันที่26 มิถุนายน 2534 ครบกำหนดยื่นฎีกาวันที่ 26 กรกฎาคม 2534 แต่วันดังกล่าวกับวันที่ 27 และ 28 เป็นวันหยุดราชการ ทนายจำเลยที่ 2ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2534 อ้างว่าติดต่อกับจำเลยที่ 2ไม่ได้ เนื่องจากจำเลยที่ 2 ต้องออกจากบ้านไปค้าขายต่างจังหวัดและไปป่วยอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต ขอให้ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไป 15 วัน
ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องว่า เป็นเหตุขัดข้องระหว่างทนายความกับจำเลยที่ 2 หาใช่มีพฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามใบแต่งทนายความ จำเลยที่ 2 แต่งทนายความให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใช้สิทธิในการฎีกาแทนได้ และการที่ทนายความติดต่อกับจำเลยที่ 2 ไม่ได้เพราะจำเลยที่ 2 เดินทางไปค้าขายและไปล้มป่วยที่ต่างจังหวัดก็เป็นความผิดพลาดบกพร่องของจำเลยที่ 2 กับทนายความเองถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษอันศาลจะพึงขยายระยะเวลาการยื่นฎีกาให้จำเลยที่ 2 ได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 สั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share