แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การให้ถ้อยคำของจำเลยต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในตอนแรกสืบเนื่องจากการที่จำเลยมาเป็นพยานในคดีที่ อ. เป็นผู้กล่าวหาในกรณีการหายตัวไปของ ส. อันมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่าจำเลยถูกโจทก์กับพวกทำร้ายเพื่อบังคับให้รับสารภาพในข้อหาปล้นอาวุธปืนของกองพันทหารพัฒนาที่ 4 และในข้อหาจ้างวานฆ่าจ่าสิบตำรวจ ป. ซึ่งมีลักษณะเป็นการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษให้ดำเนินคดีแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม การให้ถ้อยคำของจำเลยต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในตอนหลังในเรื่องเดียวกันอีกครั้ง ก็เนื่องจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษไม่มีอำนาจสอบสวนต่อไปต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 89 และ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 21/1 อันมีลักษณะเป็นการสอบสวนเช่นเดียวกันกับการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แม้การให้ถ้อยคำทั้งสองครั้งจะต่างเวลากัน แต่ก็เป็นการให้ถ้อยคำในชั้นสอบสวนด้วยกันในเรื่องเดียวกันนั่นเอง จึงเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องโดยมีเจตนาเดียวกันเป็นความผิดกรรมเดียว หาใช่เป็นความผิดสองกรรมต่างกันไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 137, 172, 173, 174 และ 181
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172, 173, 174 วรรคสอง และ 181 (1) การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 181 (1) ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า เดิมเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เกิดเหตุคนร้ายปล้นอาวุธปืนของกองพันทหารพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส และฆ่าทหารที่เข้าเวรรักษาการณ์ 4 นาย โจทก์ซึ่งขณะนั้นมียศพลตำรวจตรีเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนในเหตุคนร้ายปล้นอาวุธปืนและในคดีที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547 จ่าสิบตำรวจ ปัญญา เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ซึ่งสืบสวนหาข่าวการปล้นอาวุธปืนถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นในวันที่ 5 มีนาคม 2547 โจทก์กับพวกจับกุมจำเลยซึ่งขณะนั้นเป็นกำนันตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี ตามหมายจับในคดีฆ่าจ่าสิบตำรวจ ปัญญา โดยถูกโจทก์ดำเนินคดีทั้งในข้อหาฆ่าจ่าสิบตำรวจ ปัญญาและคดีปล้นอาวุธปืน สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้โอนคดีไปให้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ในวันนั้นเวลา 21.45 นาฬิกา โจทก์กับพวกควบคุมจำเลยกับพวกคือนายกามานิต และนายมะยูโซ๊ะ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีเดียวกัน ขึ้นเครื่องบินของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นเครื่องบินใบพัดใช้ในการขนส่งสัมภาระและกระโดดร่ม เดินทางจากจังหวัดนราธิวาสไปกรุงเทพมหานคร นับแต่นั้นมาจำเลยถูกคุมขังโดยตลอด ในคดีฆ่าจ่าสิบตำรวจ ปัญญา จำเลยถูกฟ้องเป็นจำเลยในฐานเป็นผู้ใช้จำเลยอื่นให้ฆ่าจ่าสิบตำรวจ ปัญญา วันที่ 25 พฤษภาคม 2549 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยรวมทั้งจำเลยอื่น ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1479/2549 จำเลยได้รับการปล่อยตัวตั้งแต่วันนั้น ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุดแล้ว ส่วนในข้อหาปล้นอาวุธปืน จำเลยถูกกันไว้เป็นพยานในคดีที่นายนัจมุดดีน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส พรรคไทยรักไทย ในขณะนั้นถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นในข้อหาปล้นอาวุธปืนและแบ่งแยกดินแดน ระหว่างถูกคุมขังในวันที่ 27 ถึง 30 ธันวาคม 2547 จำเลยได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีดังกล่าวโดยกลับคำให้การของตนในชั้นสอบสวนเป็นว่านายนัจมุดดีนไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุปล้นอาวุธปืน ก่อนจำเลยให้การรับสารภาพนอกจากจะถูกตำรวจทำร้ายบนเครื่องบินแล้ว พลตำรวจเอก โกวิท ซึ่งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้นกับโจทก์ตกลงกับจำเลยว่าจะกันจำเลยเป็นพยานในคดีปล้นอาวุธปืนและจะไม่ฟ้องจำเลยในคดีจ้างวานฆ่าจ่าสิบตำรวจ ปัญญา คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว เกี่ยวกับคดีนี้หลังจากได้รับการปล่อยตัวแล้ว เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2550 จำเลยได้ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่โรงแรมโนโวเทล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2550 จำเลยได้ให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนพิษณุโลก กรุงเทพมหานคร โดยอ้างอิงคำเบิกความของตนในคดีของนายนัจมุดดีนว่า ระหว่างที่จำเลยถูกควบคุมอยู่ในห้องโดยสารของเครื่องบินที่ทำการบินอยู่นั้น โจทก์กับพวกได้ร่วมกันทำร้ายจำเลยจนฟันกรามด้านซ้ายซี่บนและล่างหลุด 2 ซี่ เพื่อบังคับให้รับสารภาพในคดีปล้นอาวุธปืน และให้ยอมบอกที่ซ่อนอาวุธปืน หลังจากนั้นวันที่ 15 พฤษภาคม 2552 คณะอนุกรรมการไต่สวนแจ้งข้อกล่าวหาโจทก์ วันที่ 5 ตุลาคม 2552 โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ และระหว่างที่คดีอยู่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ข้อกล่าวหาตกไป
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และแก่คณะอนุกรรมการไต่สวนซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นความผิดสองกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า การให้ถ้อยคำของจำเลยต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในตอนแรกสืบเนื่องจากการที่จำเลยมาเป็นพยานในคดีที่นางอังคณา เป็นผู้กล่าวหาในกรณีการหายตัวไปของนายสมชาย อันมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่าจำเลยถูกโจทก์กับพวกทำร้ายเพื่อบังคับให้รับสารภาพในข้อหาปล้นอาวุธปืนของกองพันทหารพัฒนาที่ 4 และในข้อหาจ้างวานฆ่าจ่าสิบตำรวจ ปัญญา ซึ่งมีลักษณะเป็นการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษให้ดำเนินคดีแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม การให้ถ้อยคำของจำเลยต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในตอนหลังในเรื่องเดียวกันอีกครั้ง ก็เนื่องจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษไม่มีอำนาจสอบสวนต่อไปต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 89 และพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 21/1 อันมีลักษณะเป็นการสอบสวนเช่นเดียวกันกับการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แม้การให้ถ้อยคำทั้งสองครั้งจะต่างเวลากัน แต่ก็เป็นการให้ถ้อยคำในชั้นสอบสวนด้วยกันในเรื่องเดียวกันนั่นเอง จึงเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องโดยมีเจตนาเดียวกันเป็นความผิดกรรมเดียวดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา หาใช่เป็นความผิดสองกรรมต่างกันไม่ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่งในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 173, 174 และ 181 และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่า โทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 137 และ 172 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์