คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3009/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรได้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้ป่าภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงเป็นป่าสงวนแห่งชาติและทางราชการได้ปิดประกาศสำเนากฎกระทรวงและแผนที่ท้ายกฎกระทรวงไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอที่ทำการกำนันท้องที่ และที่เปิดเผยเห็นได้ง่ายในหมู่บ้านท้องที่นั้นตามมาตรา 9 แห่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 แล้ว ย่อมมีผลให้ที่ดินในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติทันที จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าไม่รู้ว่าที่ดินแปลงที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องมีใจความว่า จำเลยทั้งสองกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1127/2533 ของศาลชั้นต้น และพวกอีก 1 คนร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินก่นสร้าง แผ้วถางโดยใช้รถแทรกเตอร์ไถพรวนดินรวมเนื้อที่ 10 ไร่ ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นการทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองกับพวกไม่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และสั่งให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติด้วย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคแรกจำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 8,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวน เป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 4 เดือน 15 วัน และปรับ 6,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้างผู้แทนและบริวารของจำเลยทั้งสองออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้กระทำผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษมาหรือไม่ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับนายก้อนยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้รถแทรกเตอร์ไถปรับพื้นดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติกระทำให้เสื่อมเสียสภาพป่าสงวนแห่งชาติเป็นเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงมีความผิดตามที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษมาข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของนายตระกูลพยานโจทก์ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 392 (พ.ศ. 2512)ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 กำหนดให้ป่าภูแลนคาด้านทิศใต้ ในท้องที่ ตำบลคอนสวรรค์ตำบลช่องสามหมอ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวง ตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นป่าสงวนแห่งชาติและทางราชการได้ปิดประกาศสำเนากฎกระทรวงและแผนที่ท้ายกฎกระทรวงไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนันท้องที่และที่เปิดเผยเห็นได้ง่ายในหมู่บ้านท้องที่นั้น ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 แล้ว ย่อมมีผลให้ที่ดินในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติทันที จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าไม่รู้ว่าที่ดินแปลงที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share