แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
รถของโจทก์ถูกรถของจำเลยชนโดยประมาทพังขวางอยู่กลางถนนแล้วถูกรถของบุคคลอื่นชนซ้ำโดยไม่ใช่ความประมาทของบุคคลนั้น แม้จะก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นก็เป็นผลโดยตรงอันเกิดจากความประมาทของฝ่ายจำเลยเป็นผู้ก่อขึ้นก่อน ดังนั้นจำเลยจึงต้องรับผิดในผลอันนี้ด้วย สำนวนแรกโจทก์มิได้ฟ้องผู้รับประกันภัยเป็นจำเลย คงฟ้องแต่ผู้อื่น เมื่อผู้รับประกันภัยเข้ามาเป็นโจทก์ในสำนวนที่สองโดยอ้างว่าเป็นผู้รับช่วงสิทธิในฐานะผู้รับประกันภัยฟ้องจำเลยอื่นและโจทก์ในสำนวนแรกให้ร่วมรับผิดอันเนื่องจากเหตุรถชนรายเดียวกัน โจทก์ในสำนวนแรกจึงมีสิทธิฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากผู้รับประกันภัยซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนที่สองได้ ไม่เป็นฟ้องซ้อน โจทก์ที่ 2 เป็นจำเลยตามฟ้องแย้งในสำนวนที่สองของโจทก์ที่ 1 ส่วนจำเลยเป็นจำเลยตามฟ้องสำนวนแรกของโจทก์ที่1 แม้จะเป็นค่าเสียหายรายเดียวกันแต่เป็นคนละคดีต้องเสียค่าขึ้นศาลต่างหากจากกัน เมื่อโจทก์ที่ 2 และจำเลยแพ้คดีและฎีกาต่อมาจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นรายคดีการที่ฎีการ่วมกันมาไม่ทำให้หน้าที่ที่จะต้องเสีย ค่าขึ้นศาลลดน้อยลง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิดเป็นการเกินคำขอ เพราะโจทก์ขอเรียกดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2522 ศาลฎีกาควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันสำนวนแรกโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ที่ 4ที่ 5 และที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การต่อสู้คดีอ้างว่าเหตุเกิดเพราะความประมาทของฝ่ายโจทก์เอง และบริษัทพิพัทธ์ประกันภัย จำกัดซึ่งรับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไว้ได้ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยเป็นอีกคดีหนึ่ง (สำนวนที่สอง) และโจทก์ได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากบริษัทพิพัทธ์ประกันภัย จำกัด อยู่แล้ว จึงไม่ชอบที่จะรับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาส่วนสำนวนหลังบริษัทพิพัทธ์ประกันภัย จำกัด ฟ้องโจทก์ในสำนวนแรกเป็นจำเลยโดยอ้างการรับช่วงสิทธิในฐานะผู้รับประกันซึ่งได้จ่ายค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 2ที่ 3 ในสำนวนแรกไปและโจทก์ในสำนวนแรกจะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำละเมิด โจทก์ในสำนวนแรกให้การปฏิเสธความรับผิด และฟ้องแย้งให้บริษัทพิพัทธ์ประกันภัย จำกัด ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนที่สองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ในสำนวนที่สองให้การแก้ฟ้องแย้งโดยขอให้ยกฟ้องแย้งศาลชั้นต้นให้เรียกโจทก์สำนวนแรกและจำเลยในสำนวนที่ 2 ว่าโจทก์ที่ 1ให้เรียกโจทก์ในสำนวนที่สองว่าโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิด ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และยกฟ้องของโจทก์ที่ 2 ให้โจทก์ที่ 2 ร่วมกันจำเลยที่ 2 ที่ 3ชำระค่าเสียหายตามฟ้องแย้งให้แก่โจทก์ที่ 1 ในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท
โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่โจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่ารถของโจทก์ที่ 1 ถูกรถของจำเลยที่ 4, 5, 6 ชนซ้ำทำให้เสียหายมากขึ้นนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเหตุครั้งแรกเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขับรถยนต์บรรทุกชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 พังขวางอยู่กลางถนนการที่จำเลยที่ 4 ขับรถเก๋งของจำเลยที่ 5 ที่ 6 มาชนซ้ำนั้นศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันเป็นยุติว่า จำเลยที่ 4 มิได้ประมาท แม้จะก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นก็เป็นผลโดยตรงอันเกิดจากความประมาทของรถยนต์ฝ่ายจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ก่อขึ้นก่อน ฉะนั้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และโจทก์ที่ 2 จึงต้องรับผิดในผลอันนี้ด้วย
ที่โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาว่า ฟ้องแย้งของโจทก์ที่ 1 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 552/2523 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 748/2522 ของศาลจังหวัดนครราชสีมานั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 748/2522 โจทก์ที่ 1 มิได้ฟ้องโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยเป็นจำเลย คงฟ้องแต่ผู้อื่น เมื่อโจทก์ที่ 2 เข้ามาเป็นโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 552/2523 โดยอ้างว่าเป็นผู้รับช่วงสิทธิในฐานะผู้รับประกันภัยฟ้องจำเลยอื่น ๆ และโจทก์ที่ 1 ให้ร่วมรับผิดอันเนื่องจากเหตุรถชนรายเดียวกันโจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ที่ 2 ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้อน
สำหรับประเด็นเรื่องค่าขึ้นศาลที่โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาว่าศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกายังไม่ถูกต้องนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ที่ 2 เป็นจำเลยตามฟ้องแย้งในสำนวนที่สองของโจทก์ที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นจำเลยตามฟ้องสำนวนแรกของโจทก์ที่ 1 แม้จะเป็นค่าเสียหายรายเดียวกันแต่เป็นคนละคดี ต้องเสียค่าขึ้นศาลต่างหากจากกัน เมื่อโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 แพ้คดีและฎีกาต่อมาจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นรายคดีการที่โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีการ่วมกันมาไม่ทำให้หน้าที่ที่จะต้องเสียค่าขึ้นศาลลดน้อยลง
อนึ่งปรากฏว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 3 ชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 100,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1นับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2521 อันเป็นวันละเมิดนั้น เป็นการเกินคำขอ เพราะโจทก์ที่ 1 ขอเรียกดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2522 และมิได้กำหนดให้โจทก์ที่ 2 ร่วมรับผิดในการชำระดอกเบี้ยตั้งแต่เมื่อใด ซึ่งโจทก์ที่ 1 ขอให้นับแต่วันฟ้องแย้ง ฉะนั้นจึงเห็นควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 100,000 บาทแก่โจทก์ที่ 1 นับแต่วันที่ 15 ธันวาคม2522 และให้โจทก์ที่ 2 ร่วมรับผิดในการชำระค่าดอกเบี้ยนับแต่วันที่25 มกราคม 2523 (วันฟ้องแย้ง) เป็นต้นไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์