คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3007/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ค่าจ้างทนายความดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองที่กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองที่โจทก์ต้องจ่ายไปมิใช่ค่าเสียหายโดยตรงจากการที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดเป็นความเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของตึกที่ทำการก่อสร้างได้ยื่นคำขออนุญาตโดยมีแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน รายการคำนวณแนบไปด้วยเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างและจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงชื่อเป็นผู้ควบคุมงานตอกเสาเข็ม ซึ่งผู้รับจ้างจะต้องใช้ปั้นจั่นขนาดใหญ่ตอกเสาเข็มคอนกรีตลงในบริเวณที่ก่อสร้างเพื่อทำการก่อสร้างตึกสี่ชั้นซึ่งอยู่ใกล้บ้านโจทก์ทั้งสองเมื่อผู้รับจ้างกระทำการดังกล่าวทำให้บ้านโจทก์ทั้งสองแตกร้าวเสียหาย จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้สั่งให้ผู้รับจ้างกระทำการนั้นและเกิดการเสียหายขึ้น ถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ผิดในส่วนของการงานที่สั่งให้ทำ จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 60ซอยรามคำแหง 52 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นขออนุญาตและดำเนินการก่อสร้าง โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างตึกสี่ชั้นในซอยรามคำแหง 50 ซึ่งอยู่ติดกับบ้านโจทก์ที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 1 ที่ 2 กับลูกจ้างได้ร่วมกันใช้ปั้นจั่นขนาดใหญ่ตอกเสาเข็มคอนกรีต ยาวประมาณ 20 เมตร ลงบนพื้นที่อยู่ติดกับบ้านโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เพื่อก่อสร้างตึกสี่ชั้นดังกล่าวด้วยความรุนแรงโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้บ้านโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ได้รับความกระทบกระเทือนผนังคอนกรีตบ้านหลังใหญ่และหลังเล็กตลอดจนครัวและห้องเก็บของได้รับความเสียหาย ต้องซ่อมบ้านหลังใหญ่คิดเป็นเงิน 36,600 บาท บ้านหลังเล็ก 17,600 บาท ห้องเก็บของเป็นเงิน 21,650 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 75,850 บาท และในวันต่อมาได้มีการตอกเสาเข็มรุนแรงยิ่งขึ้นทำให้บ้านหลังใหญ่ได้รับความเสียหายจะต้องซ่อมแซมเพิ่มอีก 7,500 บาท รวมเป็นค่าซ่อมแซมทั้งหมด 83,350 บาทและต้องจ้างทนายความดำเนินคดีอีก20,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 103,350 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า จำเลยทั้งสองมิได้ใช้ปั้นจั่นขนาดใหญ่ตอกเสาเข็ม และบุคคลที่โจทก์อ้างว่าตอกเสาเข็มมิได้เป็นลูกจ้างและทำการในทางการที่จ้างของจำเลยทั้งสอง ส่วนค่าจ้างทนายความไม่ใช่ค่าเสียหายโดยตรง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จนอกจากนี้ให้ยกโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 จำนวน 75,850 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 60 ซอยรามคำแหง 52 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ซึ่งแตกร้าวได้รับความเสียหาย โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นคำขอและได้รับอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างตึกสี่ชั้นในซอยรามคำแหง 52 ที่อยู่ติดกับบ้านโจทก์ทั้งสองดังกล่าวและมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างซึ่งจะต้องใช้ปั้นจั่นขนาดใหญ่ตอกเสาเข็มคอนกรีตลงในบริเวณที่ก่อสร้างเพื่อทำการก่อสร้างตึกสี่ชั้นซึ่งอยู่ใกล้บ้านโจทก์ทั้งสอง…
ฎีกาประการที่สองที่ว่า โจทก์ทั้งสองได้ว่าจ้างทนายความเป็นเงิน 20,000 บาท ให้ฟ้องจำเลยทั้งสองในการกระทำความผิดซึ่งเป็นผลโดยตรงและเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งนั้น เห็นว่าเมื่อมีการละเมิดเกิดขึ้น ผู้กระทำความผิดต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ การคืนทรัพย์สินหรือใช้ราคาทรัพย์สินให้ รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคสอง เมื่อจำเลยทั้งสองละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายที่ได้ก่อให้เกิดขึ้น ละเมิดที่จำเลยก่อขึ้นและจะต้องใช้ค่าเสียหายคือค่าซ่อมแซมบ้านจากการตอกเสาเข็มจึงเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองจะเรียกจากจำเลย ส่วนการที่จำเลยไม่ยอมชำระค่าเสียหายดังกล่าวอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองโจทก์ทั้งสองจึงจำต้องจ้างทนายความดำเนินคดีนี้นั้น ค่าจ้างทนายความดังกล่าวมิใช่ค่าเสียหายโดยตรงจากการที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดเป็นความเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุที่จำเลยทั้งสองกระทำต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น…
ฎีกาประการที่สามที่ว่า หากจำเลยทั้งสองจ้างให้ผู้อื่นตอกเสาเข็มก็เป็นเรื่องของผู้รับจ้างจะต้องรับผิดนั้น เห็นว่า ตามมาตรา 428 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อขึ้น เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของตึกที่ทำการก่อสร้างได้ยื่นคำขออนุญาตโดยมีแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน รายการคำนวณแนบไปด้วยเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจำเลยที่ 2เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างและจากคำเบิกความของตัวจำเลยที่ 1รับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงชื่อเป็นผู้ควบคุมงานตอกเสาเข็มย่อมเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้สั่งให้ผู้รับจ้างกระทำเมื่อการกระทำนั้นเกิดการเสียหายขึ้น ถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ผิดในส่วนของการงานที่สั่งให้ทำ จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์”
พิพากษายืน

Share