แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของโจทก์ที่อ้างว่าโจทก์ไม่ทราบว่าลูกจ้างคนใดเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานบ้างนั้นไม่น่ารับฟังเพราะโจทก์สามารถตรวจสอบจากรายชื่อลูกจ้างที่ไม่ได้เข้าทำงานในระหว่างนัดหยุดงานได้ ดังนี้การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีโดยมิได้ถือข้อเท็จจริงตามถ้อยคำสำนวน เพราะข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่าโจทก์ไม่ทราบว่าใครบ้างเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน จี.เอส.สตีลนั้น จึงเป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง อันเป็นการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 54 ส่วนที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์โดยหยิบยกเอาคำพยานบุคคลของโจทก์ขึ้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าการเชื่อพยานเพียงใดหรือไม่นั้นเป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน โจทก์อุทธรณ์ข้อนี้เป็นการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2531 โจทก์ได้มีคำสั่งพิเศษที่ 1/2531 เรื่องเลิกดำเนินกิจการด้านการผลิตและแปรรูปเหล็กกล้า และได้เลิกจ้างลูกจ้างในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจำนวน 638 คน มีผลตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2531 เนื่องจากโจทก์ขาดทุนอย่างหนัก ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2531นายเอก กาญจนพิมล กับพวก รวม 53 คน ได้ยื่นกล่าวหาต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่า ถูกโจทก์เลิกจ้างเพราะเหตุที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน จี.เอส.สตีล และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อันประกอบด้วยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ได้มีคำสั่งที่ 44-96/2531ลงวันที่ 9 กันยายน 2531 วินิจฉัยว่า การที่โจทก์เลิกจ้างนายเอก กาญจนพิมล กับพวก รวม 53 คน เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518และสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่ลูกจ้างทั้ง 53 คน รวมเป็นเงิน4,1174,320 บาท โจทก์เห็นว่า คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12ยังคลาดเคลื่อน เพราะการเลิกจ้างดังกล่าวไม่ใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม และไม่มีเหตุผลตามกฎหมายที่จะให้โจทก์ต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายดังกล่าว ทั้งค่าเสียหายก็กำหนดไว้มากเกินไปสมควรที่จะถูกเพิกถอน เพราะการที่โจทก์มีคำสั่งเลิกกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างนั้นเนื่องมาจากในปี พ.ศ. 2530 โจทก์ประสบปัญหากับการขาดทุนอย่างหนักเป็นเงินประมาณ 60 ล้านบาท และต่อมาลูกจ้างได้ใช้สิทธินัดหยุดงานตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2531 อีก ซึ่งโจทก์ได้ประกาศให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานตลอดเวลา แต่ลูกจ้างไม่ยอมกลับเข้าทำงาน ทำให้การดำเนินงานด้านการผลิตและแปรรูปเหล็กเส้นต้องหยุดชะงักลง เป็นผลให้โจทก์ได้รับความเสียหายหนักมากยิ่งขึ้นคณะกรรมการบริหารของโจทก์จึงมีมติให้เลิกดำเนินกิจการ คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ดังกล่าว จึงไม่ถูกต้องสมควรที่จะถูกเพิกถอน ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ 44-96/2531 ลงวันที่9 กันยายน 2531 ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 และพิพากษาว่า คำสั่งเลิกจ้างของโจทก์ที่เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 638 คน รวมทั้งลูกจ้าง53 คน ตามบัญชีรายชื่อเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ไม่ใช่การกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ให้การว่า คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 44-96/2531 ลงวันที่ 9 กันยายน 2531ชอบด้วยเหตุผล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว การเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมด และการเลิกดำเนินการผลิตและแปรรูปเหล็กกล้าของโจทก์เป็นเพียงพิธีการ ส่วนความประสงค์อันแท้จริงเพื่อจะเลิกจ้างลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องและประสงค์จะล้มล้างสหภาพแรงงานจี.เอส.สตีล เพราะจะเป็นเหตุให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้เลิกสหภาพแรงงาน จี.เอส.สตีล เนื่องจากได้เปลี่ยนกิจการผลิตของโจทก์ให้ไปอยู่นามของบริษัทไทยสตีลบาร์ส จำกัด สหภาพแรงงานจี.เอส.สตีล ก็เป็นอันสิ้นสุด จึงเป็นการส่อเจตนาที่ไม่สุจริตดังนั้น การที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดว่าโจทก์เลิกจ้างนายเอก กาญจนพิมล กับพวก รวม 53 คน เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายด้วยนั้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ในชั้นพิจารณานายเอก กาญจนพิมล กับพวก รวม 51 คน ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมกับจำเลย กับขอยื่นคำให้การเพิ่มเติมและฟ้องแย้งด้วย โจทก์จำเลยไม่คัดค้าน ศาลแรงงานกลางจึงสั่งอนุญาตให้นายเอก กาญจนพิมล กับพวกรวม 51 คน เข้าเป็นจำเลยร่วมได้ แต่ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยร่วมเพราะเห็นว่าไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
จำเลยร่วมให้การว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วมเนื่องจากสหภาพแรงงาน จี.เอส.สตีล ที่จำเลยร่วมเป็นสมาชิกได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างภายในบริษัทโจทก์จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 44-96/2531 ลงวันที่ 9 กันยายน 2531 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์มีพิรุธไม่น่ารับฟังว่า โจทก์จำเป็นต้องเลิกกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมด เพราะสาเหตุขาดทุนดังอ้าง แต่เห็นว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วมทั้งหมดกับพวกรวม 53 คน เนื่องจากข้อพิพาทแรงงานเพราะเหตุลูกจ้างทุกคนเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ไม่ทราบว่าลูกจ้างคนใดเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานบ้างนั้นไม่น่ารับฟัง เพราะโจทก์สามารถตรวจสอบจากรายชื่อลูกจ้างที่ไม่ได้เข้าทำงานในระหว่างนัดหยุดงานได้ คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์คือ จำเลยที่ 1ถึงที่ 12 ตามฟ้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุต้องสั่งเพิกถอนตามที่โจทก์ขอ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยศาลแรงงานกลางสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อเว้นแต่อุทธรณ์ 2.3
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ในข้อ 2.1สรุปได้ว่ามูลคดีเกิดขึ้นเนื่องจากจำเลยที่ 13 ถึงที่ 51 (ที่ถูกเป็นจำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 51) ได้กล่าวหาว่า บริษัทโจทก์เลิกจ้างจำเลยทั้งหมด (ที่ถูกเป็นจำเลยร่วมทั้งหมด) เพราะเหตุเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน จี.เอส.สตีล โจทก์ได้ต่อสู้ข้อกล่าวหานั้นว่าได้เลิกจ้างเพราะเหตุอื่น มิได้เลิกจ้างผู้กล่าวหาเพราะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและเพราะเหตุการณ์ยื่นข้อเรียกร้อง ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่ทราบว่าลูกจ้างคนใดเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานบ้างนั้นไม่น่ารับฟัง เพราะโจทก์สามารถตรวจสอบจากรายชื่อลูกจ้างที่ไม่ได้เข้าทำงานในระหว่างนัดหยุดงานได้ คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น เป็นการวินิจฉัยคดีโดยมิได้ถือข้อเท็จจริงตามถ้อยคำสำนวน เพราะข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่า โจทก์ไม่ทราบเลยว่าใครบ้างเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน จี.เอส.สตีล เนื่องจากกฎหมายให้ถือว่ารายชื่อสมาชิกสหภาพแรงงานเป็นความลับเจ้าพนักงานแรงงานสัมพันธ์ พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานก็ไม่สามารถที่จะเปิดเผยให้โจทก์หรือบุคคลภายนอกทราบได้ว่ามีใครเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานบ้าง ทั้งสหภาพแรงงานก็ไม่เคยแจ้งให้โจทก์ทราบ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ฟังว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วมทั้งหมดกับพวกรวม 53 คน เนื่องจากข้อพิพาทแรงงานเพราะเหตุลูกจ้างทุกคนเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างข้อที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ไม่ทราบว่าลูกจ้างคนใดเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานบ้างไม่น่ารับฟัง เพราะโจทก์สามารถตรวจสอบจากรายชื่อลูกจ้างที่ไม่ได้เข้าทำงานในระหว่างนัดหยุดงานได้อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อ 2.2 ว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวนหลายประการโดยหยิบยกคำเบิกความของนายรังสฤษดิ์ ประกฤตศรี นายธานี อินทรสูตรนางวิไล จ๋วงพานิช และนายจิตติ บุษราคัมรุหะ ขึ้นมาให้ศาลฎีกาพิจารณาประกอบเพื่อให้ศาลฟังว่ากิจการของโจทก์ขาดทุน จำเป็นต้องเลิกกิจการนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การวินิจฉัยพยานหลักฐานในส่วนนี้ของศาลแรงงานกลางหาได้ขัดกับพยานหลักฐานในสำนวนแต่ประการใดไม่ เพราะเป็นการหยิบยกเอาคำพยานบุคคลของโจทก์ขึ้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ควรเชื่อพยานเพียงใดหรือไม่เท่านั้นเป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์