แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในคดีหมิ่นประมาท โจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงถ้อยคำที่จำเลยกล่าวอันเป็นข้อสำคัญที่ทำให้เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทแล้วแม้จะมีข้อความในคำฟ้องไม่ตรงกับถ้อยคำในแถบบันทึกเสียงซึ่งโจทก์อ้างส่งเป็นพยาน แต่ส่วนใหญ่ใจความตรงกัน และเป็นการหมิ่นประมาทด้วยถ้อยคำพูดมิใช่หมิ่นประมาทด้วยหนังสือโจทก์จึงไม่ต้องแนบเอกสารที่ถอดข้อความจากแถบบันทึกเสียงติดมาท้ายฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158(5) วรรคสอง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าข้อความที่จำเลยพูดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยมิได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ จึงเท่ากับยอมรับว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหานี้ถูกต้องแล้วการที่ศาลอุทธรณ์ฟังเป็นยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยหมิ่นประมาท อ. ผู้เสียหายโดยใส่ความต่อ ว.ด้วยข้อความเท็จว่า อ. สมคบกับผู้ชำระบัญชียักยอกที่ดินและทำการโอนให้ อ. เมื่อ อ. ขายที่ดินแล้วจะหอบเงินหนีไป อ. มีประวัติไม่ดีขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519ข้อ 7
จำเลยให้การปฏิเสธ
นางอิงครัตน์ สมุทรโคจร ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา326 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21ตุลาคม 2519 ข้อ 7 จำคุก 1 เดือน ปรับ 1,000 บาท จำเลยเป็นญาติกับผู้เสียหายและไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอไว้สองปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ฎีกาของจำเลยข้อ 3 ที่ว่า โจทก์มิได้แนบเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งถอดข้อความมาจากแถบบันทึกเสียงหมาย จ.3มาท้ายฟ้อง ข้อความที่โจทก์บรรยายในฟ้องก็ไม่เหมือนกันทีเดียวกับเอกสารหมาย จ.3 เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) วรรคสองบัญญัติว่า ‘ในคดีหมิ่นประมาทถ้อยคำพูด หนังสือ ภาพขีดเขียน หรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาทให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์หรือติดมาท้ายฟ้อง’ โจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงถ้อยคำที่จำเลยกล่าวอันเป็นข้อสำคัญที่ทำให้เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทแล้ว แม้จะมีข้อความในฟ้องไม่ตรงกับถ้อยคำในแถบบันทึกเสียงหมาย จ.3 ทุกคำแต่ส่วนใหญ่ใจความตรงกัน และเมื่อเป็นการหมิ่นประมาทด้วยถ้อยคำพูด มิใช่หมิ่นประมาทด้วยหนังสือ โจทก์จึงไม่ต้องแนบเอกสารที่ถอดข้อความจากแถบบันทึกเสียงติดมาท้ายฟ้อง ฟ้องของโจทก์เป็นไปโดยชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 158 (5)วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาของจำเลยข้อ 4 ที่ว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าข้อความตามเอกสารหมาย จ.2 นั้น จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ว่า ไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์ร่วม และรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยนั้นจำเลยไม่เห็นด้วย เพราะจำเลยให้การปฏิเสธย่อมครอบคลุมถึงการต่อสู้ว่า ข้อความตามฟ้องเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมหรือไม่ด้วย ทั้งปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนแม้จำเลยจะไม่ได้บรรยายไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ก็ย่อมหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง บัญญัติว่า’อุทธรณ์ทุกฉบับต้องระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ’ เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อความที่จำเลยพูดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมจำเลยมิได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้คงอุทธรณ์ในข้ออื่น จึงเท่ากับจำเลยยอมรับว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหานี้ถูกต้องแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ฟังเป็นยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อความที่จำเลยพูดเป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์ร่วมจึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน’
พิพากษายืน.