คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3001/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลายมือชื่อของผู้ร้องอยู่เหนือลายมือชื่อของว. และไม่มีข้อความต่อท้ายว่า”ผู้พิมพ์”ส่วนลายมือชื่อของว.มีข้อความต่อท้ายว่า”ผู้พิมพ์”และว.เบิกความว่าตนเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมทั้งโดยปกติน่าจะพิมพ์คนเดียวกรณีจึงมีข้อสงสัยว่าผู้ร้องเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมด้วยหรือไม่ซึ่งต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้ร้องซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียหายในการนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา11จึงจะฟังว่าผู้ร้องเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมด้วยหาได้ไม่กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1653วรรคแรกอันจะทำให้พินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเป็นโมฆะตามมาตรา1705เมื่อพินัยกรรมได้ทำผิดแบบพินัยกรรมเอกสารลับอันทำให้ตกเป็นโมฆะแต่พินัยกรรมดังกล่าวก็ได้ทำขึ้นถูกต้องตามแบบพินัยกรรมธรรมดาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1656ทุกประการพฤติการณ์แห่งคดีเป็นที่พึงสันนิษฐานได้ว่าถ้าเดิมทีผู้ทำพินัยกรรมรู้ว่าพินัยกรรมที่ตนทำนั้นไม่สมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารลับก็คงจะได้ตั้งใจให้สมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดากรณีเข้าลักษณะตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา136เดิมพินัยกรรมจึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1656และตามพินัยกรรมดังกล่าวระบุให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้รับพินัยกรรมผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายตามพินัยกรรมทั้งได้ความว่าการจัดการมรดกของผู้ตายมีเหตุขัดข้องในการจัดการผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1718จึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2535นางแฉล้ม เทพหัสดิน ณ อยุธยา ถึงแก่ความตายเนื่องจากการหายใจล้มเหลวติดเชื้อในกระแสเลือดและเบาหวาน ก่อนตายนางแฉล้มได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารลับยกทรัพย์สินต่าง ๆ ให้ผู้ร้องและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องได้ไปขอรับมรดกที่ดินตามพินัยกรรมแล้ว แต่มีเหตุขัดข้องในการจัดการ โดยเจ้าพนักงานที่ดินอ้างว่าต้องมีคำสั่งศาลตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกเสียก่อนผู้ร้องเป็นผู้ไม่ต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องขอ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องในข้อที่ว่า ผู้ร้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 ในฐานะเป็นผู้พิมพ์หรือไม่เสียก่อน เห็นว่า ลายมือชื่อของผู้ร้องอยู่เหนือลายมือชื่อของนายวีระ วีระสัมฤทธิ์ และไม่มีข้อความต่อท้ายว่า”ผู้พิมพ์” ส่วนลายมือชื่อของนายวีระ มีข้อความต่อท้ายว่า”ผู้พิมพ์” และนายวีระเบิกความว่าตนเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมทั้งโดยปกติน่าจะพิมพ์คนเดียว กรณีจึงมีข้อสงสัยว่า ผู้ร้องเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมด้วยหรือไม่ ซึ่งต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้ร้องซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียหายในการนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 จึงจะฟังว่าผู้ร้องเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมด้วยหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามคำเบิกความของผู้ร้องว่านางแฉล้ม เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้ตายให้ผู้ร้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรมเป็นผู้รับพินัยกรรม เมื่อเป็นดังนี้ กรณีก็ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1653วรรคแรก อันจะทำให้พินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเป็นโมฆะตามมาตรา 1705
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 เป็นพินัยกรรมที่ผู้ตายทำขั้นและนำไปแสดงต่อสำนักงานเขตดุสิต หรือไม่เห็นว่าแม้การทำพินัยกรรมแบบเอกสารลับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1660 จะทำโดยวิธีเขียนหรือพิมพ์ก็ได้ ผู้เขียนหรือผู้พิมพ์จึงมีความหมายอย่างเดียวกันตามที่ผู้ร้องฎีกาก็ตาม แต่ผู้ใดเป็นผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ซึ่งหากเป็นคนละคนกันก็ย่อมแตกต่างและขัดกัน ดังนี้ เมื่อตามทางนำสืบของผู้ร้องและตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 ปรากฎว่านายวีระเป็นผู้พิมพ์หรืออีกนัยหนึ่งเป็นผู้เขียนพินัยกรรม แต่ปรากฎตามซองพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.5 ว่า นางแฉล้ม ผู้ทำพินัยกรรมได้ให้ถ้อยคำต่อสำนักงานเขตดุสิตว่าตนเป็นผู้เขียนพินัยกรรม กรณีจึงย่อมเป็นการขัดกันดังที่ศาลล่างวินิจฉัย แต่เห็นว่าลำพังการขัดกันดังกล่าวยังไม่ถึงกับจะทำให้ไม่น่าเชื่อว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 มิใช่พินัยกรรมที่ นางแฉล้ม ผู้ทำ พินัยกรรมนำไปแสดงและให้ถ้อยคำต่อสำนักงานเขตดุสิต การที่ นางแฉล้ม ผู้ทำ พินัยกรรมให้ถ้อยคำว่าตนเป็นผู้เขียนพินัยกรรมนั้นอาจมีทางเป็นไปได้ว่าจะหมายถึงตนเป็นผู้ทำพินัยกรรมก็ได้ จึงต้องพิจารณาเหตุอื่นประกอบด้วยเมื่อพิเคราะห์พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 ประกอบกับซองพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.5 ปรากฎว่าพินัยกรรมลงวันที่ 13 เมษายน 2529นายแฉล้ม ผู้ทำพินัยกรรมนำพินัยกรรมไปแสดงและให้ถ้อยคำต่อสำนักงานเขตดุสิต วันที่ 15 เมษายน 2529 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังวันทำพินัยกรรมดังกล่าวเพียง 2 วัน ทั้งได้ให้ถ้อยคำว่าเมื่อตนถึงแก่กรรมแล้วให้มอบพินัยกรรมแก่ผู้ร้อง แสดงว่าผู้ร้องต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม ซึ่งก็สอดคล้องกับพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 ที่ระบุให้ผู้ร้องเป็นผู้รับพินัยกรรมและผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก จึงน่าเชื่อว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 เป็นพินัยกรรมที่ นางแฉล้ม ผู้ตาย ทำขึ้นและนำไปแสดงต่อสำนักงานเขตดุสิตตามที่ผู้ร้องนำสืบ
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า เมื่อพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 ซึ่งเป็นพินัยกรรมแบบเอกสารลับ ผู้ทำพินัยกรรมไม่ได้แจ้งนามและภูมิลำเนาของผู้เขียนให้ทราบอันทำให้ตกเป็นโมฆะแล้ว พินัยกรรมดังกล่าวจะสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 ได้ทำผิดแบบพินัยกรรมเอกสารลับอันทำให้ตกเป็นโมฆะแต่พินัยกรรมดังกล่าวก็ได้ทำขึ้นถูกต้องตามแบบพินัยกรรมธรรมดาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 ทุกประการซึ่งพฤติการณ์แห่งคดีเป็นที่พึงสันนิษฐานได้ว่า ถ้าเดิมทีนางแฉล้มผู้ทำพินัยกรรมรู้ว่าพินัยกรรมที่ตนทำนั้นไม่สมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารลับ ก็คงจะได้ตั้งใจให้สมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดากรณีเข้าลักษณะตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 136 เดิม พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 จึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656
ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 สมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาดังได้วินิจฉัยมา และตามพินัยกรรมดังกล่าวระบุให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้รับพินัยกรรม ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม ทั้งได้ความตามทางนำสืบของผู้ร้องว่า การจัดการมรดกของผู้ตายมีเหตุขัดข้องในการจัดการ ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 จึงสมควรจะตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม
พิพากษากลับ ให้ตั้งนายสุนทรี จินตกวีวัฒน์ เป็นผู้จัดการมรดกของนางแฉล้ม เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้ตาย ตามพินัยกรรมให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่อไป

Share