แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ในการจ่ายเงินสินบนนำจับแต่อย่างใดผู้ที่มีหน้าที่ในการจ่ายสินบนนำจับคืออธิบดีกรมศุลกากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 102 ตรี แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2497 มาตรา 9 และในการขอรับเงินสินบนนำจับนั้น จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิจะขอรับ เป็นเรื่องผู้แจ้งความนำจับที่จะขอรับโดยเจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งความลงชื่อรับรองว่าผู้ขอเป็นผู้แจ้งความนำจับ ปรากฏตามระเบียบศุลกากร โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินสินบนนำจับจากจำเลยทั้งสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายชวลิต โกมลรุจินันท์ จำเลยที่ ๑ รับราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ ๒ ขณะสามีโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ จำเลยที่ ๑ ตกลงให้สามีโจทก์เป็นสายสืบและเป็นผู้รับสินบนนำจับผู้กระทำผิดต่อพระราชบัญญัติแร่และพระราชบัญญัติศุลกากร โดยจำเลยที่ ๑ ให้สามีโจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ในแบบพิมพ์แจ้งความนำจับ สามีโจทก์ได้รวบรวมหลักฐานต่าง ๆ เสนอจำเลยที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ เพื่อเสนอต่ออธิบดีกรมตำรวจ ต่อมาระหว่างเดือนกันยายนและตุลาคม ๒๕๐๗ อธิบดีกรมตำรวจมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ พร้อมด้วยตำรวจอื่นอีกหลายนายทำการจับกุมพ่อค้าและบริษัทต่าง ๆ ที่ค้าแร่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้ต้องหา ๖ คน ผู้ต้องหาทุกคนให้การรับสารภาพและได้มีการเปรียบเทียบปรับผู้ต้องหาทั้ง ๖ คนแล้ว สำหรับรายบริษัทเลี่ยงเงี๊ยบ จำกัด กับบริษัทไทยชินจั่น จำกัด จำเลยที่ ๑ จ่ายให้สามีโจทก์เพียง ๗๗๐,๐๐๐ บาท เบียดบังเอาไป ๕๕๐,๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๑ ได้แจ้งต่อสามีโจทก์ว่าผู้ค้าแร่ผิดกฎหมายอีก ๓ รายถูกปรับไปแล้วและถ้านำสินบนนำจับ ๓ รายนี้มารวมกับค่าสินบนนำจับที่จำเลยที่ ๑ จ่ายให้สามีโจทก์ยังไม่ครบดังกล่าวข้างต้นแล้วเป็นจำนวนเงิน ๓,๒๘๙,๙๒๑ บาท ซึ่งจำเลยที่ ๑ ภายใต้บังคับบัญชาและความรับผิดชอบของจำเลยที่ ๒ จะต้องจ่ายให้แก่สามีโจทก์ ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยทั้งสองให้การว่า นายชวลิต สามีโจทก์แจ้งความนำจับเฉพาะรายบริษัทเลี่ยงเงี๊ยบกับบริษัทไทยชินจั่นเท่านั้นรวมเป็นเงินสินบนเพียง ๔๓๗,๐๐๐ บาท และ ๓๕๑,๐๐๐ บาทตามลำดับ เงินสินบนนำจับทั้งสองรายนี้สามีโจทก์มอบฉันทะให้พันตำรวจเอกโกไสยเป็นผู้รับและได้มอบให้สามีโจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งจ่ายสินบนนำจับอธิบดีศุลกากรต่างหากที่มีอำนาจหน้าที่ในการนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ในการจ่ายสินบนนำจับดังกล่าวแต่อย่างใด อธิบดีกรมศุลกากรต่างหากที่มีอำนาจและหน้าที่ในการนี้ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๑๐๒ ตรี แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๙ และในการขอรับเงินสินบนนำจับนั้น จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิจะขอรับเป็นเรื่องของผู้แจ้งความนำจับที่จะขอรับโดยเจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งความลงชื่อรับรองว่าผู้ขอเป็นผู้แจ้งความนำจับ ปรากฏตามระเบียบของกรมศุลกากร โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินสินบนนำจับจากจำเลยทั้งสอง
พิพากษายืน