คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2993/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์ แต่เหตุผลตามคำร้องไม่ใช่เหตุจำเป็นอันสมควรอนุญาตให้ขยายระยะเวลาโจทก์อุทธรณ์ แต่อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลางว่าสมควรอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์อีกหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคสอง บัญญัติว่า “การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลแรงงานกลางอันเป็นศาลที่มีคำพิพากษา ไม่อาจจะยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 4/2546 ของจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2546 ให้ยกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 22 ตุลาคม 2546 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2546 ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2546 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 2 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์ยื่นอุทธรณ์และยื่นคำร้องลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 ขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง และมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกโดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ ว่าศาลแรงงานกลางควรให้โอกาสโจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีกนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางวิเคราะห์คำร้องลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2546 ของโจทก์แล้ว เห็นว่าเหตุผลตามคำร้องไม่ใช่เหตุจำเป็นอันสมควรอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์อีก อุทธรณ์โจทก์ในข้อนี้เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลางว่าสมควรอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์อีกหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า คำสั่งศาลแรงงานกลางที่ให้ยกคำร้องขออนุญาตยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา และคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคสอง บัญญัติว่า “การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลแรงงานซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง…” จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่าโจทก์จะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแรงงานกลางอันเป็นศาลที่มีคำพิพากษาคดีนี้ ไม่อาจจะยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ คำสั่งศาลแรงงานกลางที่ยกคำร้องโจทก์ชอบแล้ว เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์พ้นระยะเวลาที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไว้ อุทธรณ์โจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ที่เลยกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ คำสั่งศาลแรงงานกลางที่ไม่รับอุทธรณ์ชอบแล้วเช่นกัน อุทธรณ์โจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share