คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2214/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักบทเดียว ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกระทงความผิดไป เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 15, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 ริบของกลางและจ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12 (1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท มีโทษเท่ากันลงโทษฐานเป็นเจ้ามือสลากกินรวบ จำคุก 6 เดือน ปรับ 5,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน ปรับ 2,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง จ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12 (1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน ปรับกระทงละ 5,000 บาท รวมจำคุก 12 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยในข้อนี้เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษ อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษจำเลยบทเดียว ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลย 2 กระทงความผิด เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาในข้อนี้ของจำเลยมานั้นเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกมานั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพียงแต่พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่โทษจำคุกยังคงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share