คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2991/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินบำเหน็จเป็นเงินที่นายจ้างตอบแทนคุณความดีของลูกจ้างที่ได้ทำงานร่วมกับนายจ้างด้วยดีตลอดมาเงินประเภทนี้กฎหมายมิได้บังคับนายจ้างว่าจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้าง นายจ้างจะจ่ายให้หรือไม่ ด้วยหลักเกณฑ์อย่างไรแล้วแต่จะเห็นสมควรข้อพิพาทเกี่ยวด้วยเงินบำเหน็จจึงมิใช่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน นายจ้างและลูกจ้างทำข้อตกลงให้ระงับสิทธิเรียกร้องเงินบำเหน็จจากนายจ้างได้
แบบพิมพ์ดีดเอกสารซึ่งนายจ้างจัดทำขึ้นระบุรายการเกี่ยวกับเงินต่างๆ ตามสิทธิและตามกฎหมายที่ลูกจ้างจะได้รับจากนายจ้างและระบุว่าลูกจ้างได้รับเงินค่าชดเชยและเงินบำเหน็จตามจำนวนที่ระบุไว้ เมื่อเอกสารดังกล่าวมีข้อความระบุไว้ด้วยว่าลูกจ้างไม่ติดใจเรียกร้องเงิน สิทธิ และประโยชน์อื่นใดจากนายจ้างอีกทั้งสิ้น ดังนี้ ลูกจ้างได้สละสิทธิเรียกร้องบำเหน็จนอกเหนือจากที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวแล้ว ลูกจ้างย่อมถูกผูกพันตามข้อความนั้น และไม่มีสิทธิจะเรียกร้องเงินบำเหน็จส่วนที่ขาดอีก

ย่อยาว

คดีสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางรวมการพิจารณาพิพากษาโดยให้เรียกโจทก์เป็นโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด และไม่จ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับองค์การเหมืองแร่ฯแก่โจทก์ตามสิทธิ โดยได้จ่ายบำเหน็จแก่โจทก์ทั้งสามขาดไปคนละ 56,400 บาท21,600 บาท และ 27,900 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จดังกล่าวแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า เดิมโจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างอัตราชั่วคราว ทำงานกับจำเลยเป็นครั้งคราว หากไม่มาทำงานก็จะไม่ได้ค่าจ้าง ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการบางอย่างจากจำเลย ไม่มีสิทธิได้รับการปรับค่าจ้างทุกปีเช่นลูกจ้างประจำ ต่อมาโจทก์ทั้งสามได้รับการปรับจากลูกจ้างอัตราชั่วคราวเป็นลูกจ้างประจำ เวลาปฏิบัติงานของโจทก์ทั้งสามจึงน้อยกว่าที่โจทก์อ้างในฟ้อง และโจทก์ทั้งสามได้รับบำเหน็จไปครบถ้วนแล้ว ทั้งยังได้แสดงเจตนาในขณะรับเงินบำเหน็จว่าไม่ติดใจเรียกร้องสิทธิและประโยชน์อื่นใดจากจำเลยอีก ขอให้ยกฟ้อง

วันนัดพิจารณาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันบางประการ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยาน

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างประจำตั้งแต่วันเริ่มทำงาน มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระยะเวลาตั้งแต่วันเริ่มทำงานจำเลยจ่ายบำเหน็จแก่โจทก์ทั้งสามขาดไปตามจำนวนที่ฟ้อง พิพากษาให้จำเลยจ่ายบำเหน็จดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสาม

จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่โจทก์ทั้งสามทำข้อตกลงกับจำเลยว่าได้รับเงินบำเหน็จตามจำนวนในคำให้การไปแล้ว ไม่ติดใจเรียกร้องเงิน สิทธิและประโยชน์อื่นใดจากจำเลยอีกทั้งสิ้นนั้นเป็นการระงับสิทธิของโจทก์ทั้งสามแล้ว ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสามหามีสิทธิเรียกร้องเงินบำเหน็จจากจำเลยอีกไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เงินบำเหน็จเป็นเงินที่นายจ้างตอบแทนคุณความดีของลูกจ้างที่ได้ทำงานร่วมกับนายจ้างด้วยดีตลอดมาเงินประเภทนี้กฎหมายมิได้บังคับให้นายจ้างว่าจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้าง นายจ้างจะให้แก่ลูกจ้างหรือไม่ จะให้ด้วยหลักเกณฑ์อย่างใดสุดแต่นายจ้างจะเห็นสมควร เป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หาเกี่ยวกับประชาชนทั่วไปไม่ข้อพิพาทเกี่ยวด้วยเงินบำเหน็จจึงมิใช่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เอกสารหมายเลข 12 หมายเลข 13 และหมายเลข 14 เป็นแบบพิมพ์ดีดที่จำเลยจัดทำขึ้น ระบุเงินต่าง ๆ ตามสิทธิและตามกฎหมายที่ลูกจ้างจะพึงได้รับจากจำเลย และมีรายการกรอกข้อความว่าได้รับเงิน (ค่าชดเชย, บำเหน็จ) ไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด ความในวรรคถัดไปมีว่า “เมื่อข้าพเจ้าได้รับเงินจำนวนดังกล่าวข้างต้นถูกต้องครบถ้วนแล้ว ข้าพเจ้าไม่ติดใจที่จะเรียกร้องเงิน สิทธิ และประโยชน์อื่นใดจากองค์การเหมืองแร่ และ/หรือผู้แทนขององค์การเหมืองแร่อีกทั้งสิ้น ฯลฯ” ดังนี้ย่อมหมายความว่าโจทก์ได้สละสิทธิที่จะเรียกร้องเงินบำเหน็จของตนนอกเหนือจากจำนวนที่ปรากฏในเอกสารนั้นแล้ว โจทก์ทั้งสามย่อมถูกผูกพันตามเนื้อความนั้น หามีสิทธิจะเรียกเงินบำเหน็จส่วนที่ขาดจำนวนอีกไม่

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำนวน

Share