คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2989/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยกู้เงินจากผู้เสียหายเพียง 50,000 บาท แต่ในสัญญากู้เงินระบุว่าจำเลยกู้ไป 60,000 บาท แสดงว่าเงิน 10,000 บาท ที่เกินมาคือดอกเบี้ยที่ผู้เสียหายคิดจากจำเลย ปรากฏว่าในสัญญากำหนดเวลาใช้เงินกู้คืนภายใน 1 เดือน จึงเท่ากับเป็นการคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อเดือน เกินกว่าอัตราตามกฎหมาย ย่อมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3(ก) การที่ผู้เสียหายรับเช็คพิพาทจากจำเลยเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมซึ่งมีดอกเบี้ยที่ผู้เสียหายเรียกเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วย ถือว่าผู้เสียหายเป็นผู้กระทำผิดในส่วนของดอกเบี้ยที่คิดเกินอัตรา แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวก็จะถือว่าผู้เสียหายเป็นผู้เสียหายไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)
แม้ผู้เสียหายที่เป็นผู้กระทำผิดจะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่ามีการร้องทุกข์และสอบสวนโดยชอบตามกฎหมายแล้ว พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 และ 121

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 12เมษายน 2539 จำนวนเงิน 60,000 บาท ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่นางศรีสุดา จาริพิบูลผู้เสียหาย ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คถึงกำหนดธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยมีเจตนาออกเช็คโดยไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 และให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1546/2541 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำคุก 1 เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1546/2541 ของศาลชั้นต้นนั้นเนื่องจากศาลชั้นต้นยังไม่มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว จึงให้ยกคำขอส่วนนี้เสีย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2539 จำเลยได้กู้ยืมเงินไปจากผู้เสียหายจำนวน 50,000 บาท แต่ได้ทำสัญญากู้ระบุว่ากู้เงินผู้เสียหายไป 60,000 บาท ตกลงชำระคืนภายในวันที่ 12 เมษายน 2539 โดยจำเลยออกเช็คพิพาทลงวันที่ 12 เมษายน 2539 สั่งจ่ายเงินจำนวน 60,000 บาท มอบแก่ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้ดังกล่าว เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดใช้เงิน ผู้เสียหายนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากผู้เสียหายจำนวน 50,000 บาท โดยจำเลยยินยอมให้ค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหาย10,000 บาท และยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยืนยันว่า ในการกู้ยืมเงินกันผู้เสียหายไม่ได้คิดดอกเบี้ยจากจำเลย แต่จำเลยเต็มใจให้เงินจำนวน 10,000 บาทแก่ผู้เสียหายเป็นสินน้ำใจทั้งหากมีการคิดดอกเบี้ยกันก็ควรมีการกรอกข้อความลงในข้อ 2ของหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายไม่คิดดอกเบี้ยจากจำเลย แต่จำเลยให้เงินจำนวนดังกล่าวเป็นสินน้ำใจจึงมีลักษณะเป็นการให้โดยเสน่หา ทั้งหนี้ต้นเงินจำนวน 50,000 บาท และเงินจำนวน 10,000 บาท จึงเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีของจำเลยไม่พอจ่ายการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้องแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฟังว่า เงินจำนวน 10,000 บาท เป็นค่าดอกเบี้ย ซึ่งผู้เสียหายคิดจากจำเลยในอัตราร้อยละ 20เกินอัตราตามกฎหมายเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ. 2475 มาตรา 3(ก) จำนวนเงินตามเช็คพิพาทจึงมีดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วย การออกเช็คพิพาทของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง โจทก์จึงไม่เห็นพ้องด้วยนั้น เห็นว่า ตามหนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 2 ระบุว่า “ผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่กู้ให้แก่ผู้ให้กู้ชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือนนับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไปจนกว่าจะใช้ต้นเงินหมด” หาใช่มิได้ระบุว่าผู้เสียหายไม่คิดดอกเบี้ยจากจำเลยตามที่โจทก์อ้างไม่ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ดังกล่าวไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามบทบัญญัติมาตรา 654 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ให้ผู้ให้กู้เรียกจากผู้กู้เงินได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกู้เงินจากโจทก์เพียง 50,000 บาท การที่ระบุในหนังสือสัญญากู้เงินฯ ว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากผู้เสียหายไป 60,000 บาท จึงแสดงให้เห็นว่า เงินจำนวน 10,000 บาท ซึ่งเกินไปคือดอกเบี้ยที่ผู้เสียหายคิดจากจำเลย และตามหนังสือสัญญากู้เงินข้อ 3กำหนดเวลาใช้เงินกู้คืนภายในวันที่ 12 เมษายน 2539 อันเป็นเวลา 1 เดือน นับแต่วันกู้ยืมเงินซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยจากเงินจำนวน 10,000 บาท แล้วจะเท่ากับร้อยละ 20ต่อเดือนเกินกว่าอัตราตามกฎหมายย่อมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2474 มาตรา 3(ก) การที่ผู้เสียหายรับเช็คพิพาทจากจำเลยเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมซึ่งมีดอกเบี้ยที่ผู้เสียหายเรียกเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วยถือได้ว่าผู้เสียหายเป็นผู้กระทำผิดในส่วนของดอกเบี้ยที่ผู้เสียหายคิดเกินอัตราตามกฎหมาย แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท ก็จะถือว่าผู้เสียหายเป็นผู้เสียหายไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) แม้ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ก็ตามก็ถือไม่ได้ว่ามีการร้องทุกข์และสอบสวนโดยชอบตามกฎหมายแล้ว พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 และ 121 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share