แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจยืนตามมติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจซึ่งเห็นชอบด้วยกับคำสั่งของกรมตำรวจที่ให้ไล่โจทก์ทั้งสองออกจากราชการและคำสั่งของนายกรัฐมนตรีเป็นที่สุดแล้ว ดังนี้ คำสั่งดังกล่าวเป็นการลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ทั้งสองตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นการใช้อำนาจของทางราชการฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ ศาลไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ไล่โจทก์ทั้งสองออกจากราชการได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งสองรับราชการตำรวจ โจทก์ที่ 1 มียศร้อยตำรวจโทโจทก์ที่ 2 มียศร้อยตำรวจตรี โจทก์ทั้งสองถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งโดยมิชอบ คือเรียกค่าตอบแทนในการช่วยเหลือผู้สมัครสอบคัดเลือกเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร จำเลยได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่งทำการสอบสวนโจทก์ทั้งสอง คณะกรรมการที่จำเลยเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นได้บิดเบือนถ้อยคำพยานผิดไปจากความเป็นจริงเสนอรายงานการสอบสวนต่อจำเลย และการสอบสวนของคณะกรรมการก็เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้แจ้งข้อหาให้โจทก์ทั้งสองทราบ และเมื่อคณะกรรมการพบมูลความผิดใหม่ซึ่งมิได้ระบุไว้ในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนก็มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ 6 ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 เฉพาะโจทก์ที่ 2 มีหน้าที่ประจำแผนกสถิติของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ไม่มีหน้าที่หรือได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ถูกกล่าวหา และเมื่อคณะกรรมการสรุปสำนวนรายงานเสนอความเห็นไปยังจำเลยว่า โจทก์ที่ 2 ถึงจะผิดก็เพียงแต่เป็นผู้สนับสนุนควรลงโทษแต่เพียงทางวินัย โดยกักขัง 15 วัน ส่วนโจทก์ที่ 1 สมควรให้ออกจากราชการ จำเลยได้มีคำสั่งให้ไล่โจทก์ทั้งสองออกจากราชการโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) คณะกรรมการดังกล่าวยกอุทธรณ์ของโจทก์อีก การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติโดยมิชอบ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะต้องเสียสิทธิในตำแหน่งราชการ เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้พิพากษายกหรือเพิกถอนคำสั่งของจำเลยนั้นเสีย
จำเลยให้การว่า การที่จำเลยได้มีคำสั่งโจทก์ทั้งสองออกจากราชการนั้น จำเลยได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการทุกประการ จำเลยไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองแล้ว มีมติให้ยกอุทธรณ์และรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ตามมติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ส่วนโจทก์ที่ 2 ยังได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ไม่รับเรื่องราวร้องทุกข์ของโจทก์ที่ 2 ตามมาตรา 20(2) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกาพ.ศ. 2522 การที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ แต่นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองตามมติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ถือว่าคำสั่งของนายกรัฐมนตรีเป็นเด็ดขาดถึงที่สุดแล้วตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2518)ข้ออ้างตามฟ้องของโจทก์ไม่เป็นความจริง เพราะความจริงโจทก์ได้รับการแจ้งข้อหาให้ทราบแล้ว การที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าโจทก์ที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนนั้น ไม่ถือว่าเป็นมูลความผิดใหม่แต่อย่างใด การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการ เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่เป็นการใช้อำนาจทางฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ ศาลไม่มีอำนาจหน้าที่เข้าไปวินิจฉัยอีก จึงขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์เสีย
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานโจทก์พยานจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ที่ 2 ขอแถลงการณ์ด้วยวาจาเห็นว่าไม่จำเป็นจึงให้งดเสีย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ให้ไล่โจทก์ทั้งสองออกจากราชการได้หรือไม่ ขณะเกิดเหตุคดีนี้โจทก์ทั้งสองรับราชการตำรวจสังกัดอยู่ในกรมตำรวจ โจทก์ทั้งสองถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจำเลยจึงได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวน คณะกรรมการสอบสวนเสร็จแล้วได้รายงานความเห็นว่าควรลงโทษโจทก์ที่ 1ให้ออกจากราชการ และให้กักขังโจทก์ที่ 2 มีกำหนด 15 วัน เมื่อจำเลยได้รับรายงานแล้วได้เสนอผลการสอบสวนต่อกระทรวงมหาดไทยคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนกระทรวงมหาดไทยได้มีมติให้ไล่โจทก์ทั้งสองออกจากราชการ จำเลยจึงได้มีคำสั่งให้ไล่โจทก์ทั้งสองออกจากราชการตามมติของคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนกระทรวงมหาดไทยโจทก์ทั้งสองได้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ แต่คณะกรรมการดังกล่าวมีความเห็นว่าคำสั่งของจำเลยชอบแล้ว ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง และรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองยืนตามมติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจและคำสั่งของนายกรัฐมนตรีเป็นที่สุดแล้ว เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ทั้งสองตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นการใช้อำนาจของทางราชการฝ่ายบริหารโดยเฉพาะศาลไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ไล่โจทก์ทั้งสองออกจากราชการ ส่วนฎีกาของโจทก์ทั้งสองในประเด็นอื่นไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.