คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2980/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างมีหน้าที่ขับรถส่งของจำเลยตอกบัตรบันทึกเวลาทำงาน ของ ณ. ซึ่งเป็นเด็กท้ายรถที่โจทก์ขับเพื่อแสดงเวลากลับจากทำงานของ ณ. ซึ่งมิได้กลับมาที่บริษัทจำเลยโดยได้ลงจากรถส่งของของจำเลยระหว่างทางแทน ณ. ซึ่งในวันดังกล่าว ณ. ก็ได้ไปทำงานจนสิ้นสุดเวลาทำงานปกติแล้วเมื่อไม่ปรากฏว่าการตอกบัตรดังกล่าวจะเป็นเหตุให้จำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ ณ.หรือไม่ และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับความเสียหายร้ายแรงประการอื่นใดอีก การที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยดังกล่าว จึงมิใช่กรณีที่ร้ายแรงจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 6,608 บาท และค่าชดเชยจำนวน12,930 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เพราะโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่นำรถของจำเลยไปใช้ส่วนตัว และบันทึกเวลาทำงานแทนพนักงานอื่นอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 12,930 บาท แก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อมาว่า การที่โจทก์ตอกบัตรบันทึกเวลาทำงานแทนนายณรงค์ ปานนิลถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรงนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ตอกบัตรบันทึกเวลาทำงานแทนนายณรงค์ดังกล่าวเป็นการตอกบัตรบันทึกเวลาทำงานเพื่อแสดงเวลากลับจากทำงานของนายณรงค์ซึ่งมิได้กลับมาที่บริษัทจำเลยโดยได้ลงระหว่างทาง ซึ่งในวันดังกล่าวนายณรงค์ก็ได้ไปทำงานจนสิ้นสุดเวลาทำงานปกติแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการตอกบัตรบันทึกเวลาทำงานกลับในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นเหตุให้จำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่นายณรงค์หรือไม่ และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับความเสียหายร้ายแรงประการอื่นใดอีก การที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยดังกล่าว จึงมิใช่กรณีที่ร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share